×

สภาพัฒน์ชี้ สถานการณ์แรงงาน-จ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง แต่พบทุกกลุ่มอาชีพส่วนใหญ่หมดไฟทำงาน

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2022
  • LOADING...
สภาพัฒน์

วานนี้ (26 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมนำเสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2565 หนึ่งในประเด็นที่มีการเสนอคือสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 2 ปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวจากโรคโควิดอย่างชัดเจน โดยการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

 

รายงานระบุว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 6.1, 12.1 และ 4.9 ตามลำดับ

 

ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร โดยการจ้างงานหดตัวร้อยละ 5.4 และ 2.6 ตามลำดับ ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร การจ้างงานปรับตัวลดลงเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

 

สำหรับภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด

 

จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคน ในไตรมาส 2 ปี 2564 เหลือ 2.2 ล้านคนในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.37 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

 

ขณะเดียวกัน การว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว (ผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี) มีจำนวน 1.5 แสนคน ลดลงร้อยละ 1.2 จากไตรมาส 2 ปี 2564 การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ร้อยละ 2.17 ลดลงจากร้อยละ 2.77 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม รายงานได้กล่าวถึงประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ประกอบด้วยเรื่อง

 

  1. ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำ

 

  1. การขาดแคลนแรงงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นและเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แบ่งเป็น

 

  • การขาดแคลนแรงงานทักษะปานกลาง-สูง พบว่ามีความไม่สอดคล้องของทักษะแรงงานและความต้องการ สะท้อนจากความต้องการแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนตามการขยายตัวของการส่งออก ขณะที่ผู้ว่างงานส่วนใหญ่กลับจบการศึกษาในด้านบริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งอาจต้องเร่งรัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ
  • การขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ สะท้อนจากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปกติ หรือช่วงปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการเปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อสามารถอยู่และทำงานได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน

 

  1. ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน ปัจจุบันแรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงานและลาออกจากงานมากขึ้น ซึ่งการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำรวจแรงงานในกรุงเทพมหานคร ปี 2562 พบว่าแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพมีภาวะหมดไฟในระดับสูง กล่าวคือ พนักงานรัฐวิสาหกิจมีภาวะหมดไฟร้อยละ 77 รองลงมาเป็นบริษัทเอกชนร้อยละ 73 ข้าราชการร้อยละ 58 และธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 48

 

ดังนั้นนายจ้าง/องค์กรต่างๆ ต้องกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising