วันนี้ (1 พฤษภาคม) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. และ มานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. จัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล
จากนั้นเดินเคลื่อนขบวนมายังฝั่งตรงข้ามประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประกาศข้อเรียกร้อง เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ข้อเรียกร้องต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สาวิทย์กล่าวว่า ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตของพี่น้องกรรมกรทั่วโลกที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อยื่นข้อเสนอของคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ ต่อรัฐบาล โดยข้อเรียกร้องหลักเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคม คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งขอปรับขึ้นเป็น 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้ทำโครงสร้างค่าจ้าง ขอให้หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งจัดตั้งธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลประกันสังคม รับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87, 98, 183, 189 และขอให้ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้นซึ่งไม่มั่นคง พร้อมขอให้ลูกจ้างของรัฐได้รับการบรรจุ เพื่อเป็นหลักประกันในคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอสำหรับแรงงานข้ามชาติด้วย โดยขอรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หยุดขูดรีดแรงงานข้ามชาติ ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ขอให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติ และคุ้มครองไม่ให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เป็นต้น
สาวิทย์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สังคมรับได้ แต่วันนี้รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 2 บาท เป็นการตอกย้ำความเจ็บปวด แทนที่จะให้ของขวัญแรงงานด้วยการขึ้นค่าแรง และแม้ว่าข้อเรียกร้องการปรับค่าจ้าง 492 บาท จะไม่ได้ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เพราะค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพ แต่ก็ทำให้เกิดการผ่อนคลายและมีเป้าหมายที่จะทำให้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ทั้งนี้หากยังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท ทางเครือข่ายแรงงานก็จะต้องมาหารือกันว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรและกำหนดท่าที่การเคลื่อนไหวต่อไป
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการจ้างงานของกระทรวงแรงงานจะมีความชัดเจนเรื่องการปรับค่าแรงในเดือนกันยายนนั้น มองว่าการยืดระยะเวลาการปรับค่าแรงไปเป็นการซ้ำเติม
จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมี วรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือ พร้อมบอกว่า ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าแรง และคาดว่าภายในเดือนกันยายนจะมีความชัดเจนขึ้น
ภาพ: ฐานิส สุดโต และกฤตย์ ศิริสัจจาพิพัฒน์