วันแรงงานกลับมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นโอกาสให้สังคมได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงสวัสดิภาพและสวัสดิการในการทำงานกันอีกครั้งหนึ่ง
สถานการณ์ปี 2565 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานไทยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ขอปรับค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานเป็น 492 บาททั่วประเทศ ในโอกาสที่ข้าวของแพงกระทบปากท้องคนทำงานมานานนับปี
ด้านนายจ้างหลายฝ่ายต่างออกตัวไม่เห็นด้วย เพราะการปรับเพิ่มจากอัตราเดิมราว 330 บาทนั้น หรือเกือบ 50% จากอัตราเดิม มองว่าสูงเกินไป และจะเป็นการกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากพิษโควิดและสงคราม ที่ผลักดันให้ปัญหาเงินเฟ้อยังคงรุนแรงทั่วโลก
นำมาสู่คำถามใหญ่วันนี้ คุณคิดอย่างไรหากต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องขึ้นแค่ไหนถึงจะรอดกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะลูกจ้าง นายจ้าง รวมถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวม?
อย่างไรก็ตามในห้วงที่โควิดระบาดในไทย แรงงานในไซต์งานก่อสร้างเป็นกลุ่มคนที่ถูกสั่งให้ยุติการทำงาน เพื่อเป็นการวางมาตรการในการป้องกันโรคตามมติศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้วางแนวทาง ทว่าก็มีปัญหาการจัดการในหลายจุด รวมถึงการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยในที่พักอาศัยซึ่งเป็นบ้านมุงสังกะสี และต้องอดทนอยู่ในบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต รวมถึงอาหารที่ได้รับการจัดสรรในการบริโภครายวันที่ไม่เพียงพอในบางจุดด้วย
THE STANDARD สำรวจภาพการทำงานของพี่น้องแรงงานทั้งไทยและต่างชาติที่เข้ามาในเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางความอดทนที่ต้องต่อสู้ ค้าแรงงาน เพื่อส่งเงินกลับบ้าน ดูแลตัวเองและครอบครัว และสู้ชีวิตท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ของแพง ค่าแรงไม่ขยับ แต่ก็ทนทำงานต่อไป เพราะมีต้นทุนเพียงเท่านี้ หวังว่าจะได้ลืมตาอ้าปากในวันข้างหน้า
THE STANDARD ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้แรงงาน ที่ทั้งได้หยุดพัก และบางส่วนต้องทำงานในวันนี้