รัฐบาลเยอรมนีประกาศแผนปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด 84 แห่งทั่วประเทศอย่างถาวรภายใน 19 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2038 ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยผู้นำจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น นักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและการค้า รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปหลังประชุมมาราธอนนาน 21 ชั่วโมงเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยจะนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้แทนที่
แผนระยะยาวนี้ถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนใหม่ของเยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นประเทศแถวหน้าของโลกที่ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อนที่จะเริ่มพลาดเป้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินอยู่ 40% แผนนี้ยังรวมงบประมาณราว 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) เพื่อชดเชยให้กับภูมิภาคที่พึ่งพาถ่านหินมากเป็นพิเศษ
ก่อนหน้านี้เยอรมนีเคยประกาศยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์มาแล้ว หลังจากเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 โดยทางการมีแผนปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมดภายในปี 2022 ซึ่งล่าสุดปิดไปแล้ว 12 แห่งจากทั้งหมด 19 แห่ง
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของเยอรมนีพึ่งพาพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลมและแสงอาทิตย์มากที่สุด คิดเป็น 41% ส่วนพลังงานจากถ่านหินคิดเป็น 40% ซึ่งภายในปี 2040 เยอรมนีจะหันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 65% ถึง 80%
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาใหญ่ที่นานาชาติให้ความสำคัญ โดยมี ‘ความตกลงปารีส’ ที่เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นว่าจะพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และจะพยายามจำกัดเพดานไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม สาเหตุหลักคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทุกวันนี้เราเริ่มสัมผัสผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้แล้ว ทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงขึ้น ตลอดจนไฟป่าที่ลุกลามถี่ขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: