×

เคิร์สเตน ซินีมา และ โจ แมนชิน สองวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้กำหนดชะตาของรัฐบาลไบเดน

18.03.2021
  • LOADING...
เคิร์สเตน ซินีมา และ โจ แมนชิน สองวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้กำหนดชะตาของรัฐบาลไบเดน

HIGHLIGHTS

  • การที่ไบเดนสามารถผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้สำเร็จในช่วงไม่ถึง 100 วันแรกของการเป็นประธานาธิบดีถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในฐานะผู้นำประเทศของเขา อย่างไรก็ดี หากเรามองลงไปที่รายละเอียดจะพบว่า ที่จริงแล้วไบเดนต้องการนโยบายกระตุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่พวกเขาต้องยอมประนีประนอมกับนักการเมืองกลางซ้ายในพรรคที่นำโดย ส.ว. โจ แมนชิน และ ส.ว. เคิร์สเตน ซินีมา 
  • การโหวตสวนนโยบายซ้ายจัดเป็นสัญญาณเตือนไปยังไบเดนและฝ่ายซ้ายในพรรคว่า พวกเขาอาจไม่สามารถออกนโยบายหรือกฎหมายใดๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของทั้งสองคนนี้ นโยบายในฝันหลายอย่างของฝ่ายซ้ายอย่างการเพิ่มจำนวนตุลาการของศาลสูงสุด การให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเปอร์โตริโก และกรีนนิวดีล คงไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ภายใต้ Trifecta อันแสนเปราะบางของไบเดน

ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง โจ ไบเดน เพิ่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า American Rescue Plan ได้สำเร็จในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนนี้ ประมาณ 1 ใน 4 จะถูกนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงผ่านการแจกเงินโดยตรงสู่กระเป๋าสตางค์ของชาวอเมริกันผู้มีรายได้น้อยคนละ 1,400 ดอลลาร์ และที่เหลือจะถูกนำไปช่วยชดเชยรายได้ให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง อุดหนุนรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงการจ่ายแจกวัคซีนเพื่อยุติการระบาดของไวรัส

 

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า American Rescue Plan เป็นนโยบายที่ดี ที่จะสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้เร็วขึ้น ผ่านการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านอัตรา ทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP กลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกับก่อนการระบาดของไวรัสภายในสิ้นปี (แทนที่จะเป็นปี 2025 หากไม่มีการกระตุ้น) ที่สำคัญผลสำรวจของโพลหลายสำนักก็ระบุตรงกันว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (กว่า 70%) เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลในรูปแบบนี้

 

การที่ไบเดนสามารถผ่านนโยบายขนาดใหญ่เช่นนี้ได้สำเร็จในช่วงไม่ถึง 100 วันแรกของการเป็นประธานาธิบดีถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในฐานะผู้นำประเทศของเขา อย่างไรก็ดี หากเรามองลงไปที่รายละเอียดจะพบว่า ที่จริงแล้วไบเดนและนักการเมืองฝ่ายซ้ายจัดในพรรคต้องการนโยบายกระตุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่พวกเขาต้องยอมประนีประนอมกับนักการเมืองกลางซ้ายในพรรคที่นำโดย ส.ว. โจ แมนชิน จากมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และ ส.ว. เคิร์สเตน ซินีมา จากมลรัฐแอริโซนา

 

 

Trifecta ของไบเดนนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ชัยชนะในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสองที่นั่งสุดท้ายที่มลรัฐจอร์เจียในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้พรรคเดโมแครตได้ครองอำนาจเต็มทั้งที่ทำเนียบขาว สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หรือที่เรียกกันว่า Trifecta ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว Trifecta จะทำให้พวกเขาออกกฎหมายและดำเนินนโยบายได้ตามชอบใจ เพราะพรรครีพับลิกันไม่มีเสียงพอที่จะมาขัดขวางพวกเขาได้แม้แต่สภาเดียว

 

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว Trifecta ของไบเดนนั้นเปราะบางมาก เพราะวุฒิสภาที่พวกเขามีเสียงอยู่ที่กึ่งหนึ่งคือที่ 50 เสียงพอดี (ซึ่งทำให้พวกเขาถือครองเสียงข้างมาก เพราะเมื่อผลโหวตเท่ากันที่ 50 ต่อ 50 รองประธานาธิบดีอย่าง คามาลา แฮร์ริส จะสามารถมาโหวตเป็นเสียงที่ 51 เข้าข้างพรรคเดโมแครตได้) แต่นักวิเคราะห์ทางการเมืองก็เชื่อกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไบเดนและกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรค ไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายหรือร่างกฎหมายที่มีความเสรีนิยมมากๆ ผ่านวุฒิสภาได้ เพราะพวกเขาจำเป็นจะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ของพรรคทุกคน ซึ่งนโยบายซ้ายจัดน่าจะถูกปฏิเสธโดย ส.ว. สายกลางของพรรคอย่างแมนชินและซินีมา

 

และแมนชินกับซินีมาก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพวกเขาตั้งแต่ร่างกฎหมายแรกของไบเดน เมื่อพวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้มีการบรรจุนโยบายซ้ายจัดเข้าไปใน American Rescue Plan โดยนโยบายที่ทั้งสองคนออกมาต่อต้านอย่างแข็งขันคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสองเท่าตัว (จากเดิม 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อภาคธุรกิจที่ไม่น่าจะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันเช่นนี้ได้ไหว ซึ่งในที่สุดด้วยการต่อต้านของแมนชินและซินีมา นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ก็ถูกโหวตให้ตกไป ไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ American Rescue Plan ได้ ซึ่งทำให้ฝ่ายซ้ายจัดในพรรคอย่าง ส.ส. อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส และ ส.ว. เอลิซาเบธ วอร์เรน ไม่พอใจอย่างมาก และออกมาทำสงครามน้ำลายกับสองคนนี้

 

หรือแม้แต่นโยบายที่เขาสองคนเห็นด้วย พวกเขาก็พยายามจะแตะเบรกไม่ให้ฝ่ายซ้ายในพรรคใช้งบประมาณแผ่นดินแบบมือเติบเกินไป อย่างเช่น นโยบายการให้เงินชดเชยแก่ผู้ตกงานจากโควิด-19 (Unemployment Benefit) แมนชินก็ต่อรองให้ไบเดนจำใจลดจำนวนเงินลงจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ เหลือ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ หรืออย่างเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดิมจะจ่ายให้ผู้มีรายได้ถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แมนชินและซินีมาก็ต่อรองให้กำหนดเหลือเพียงผู้มีรายได้ไม่เกิน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

นอกจากนี้แมนชินยังเป็นผู้กดดันให้ไบเดนยอมถอย ไม่เสนอชื่อของ นีรา แทนเดน ขึ้นเป็นผู้อำนวยการของสำนักงบประมาณแผ่นดิน (Office of Management and Budget) เนื่องจากเธอมีประวัติการใช้โซเชียลมีเดีย และให้สัมภาษณ์ดูแคลนนักการเมืองของพรรครีพับลิกันด้วยภาษาที่ดุเดือด เช่น เคยเปรียบเทียบว่าผู้นำ ส.ว. ของรีพับลิกันอย่าง มิตช์ แมคคอนเนลล์ ว่าเป็น ลอร์ดโวลเดอมอร์ (พ่อมดจอมมารจากนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์) และเปรียบเทียบ ส.ว. เท็ด ครูซ ว่าเป็นแวมไพร์

 

การเมืองของเวสต์เวอร์จิเนียและแอริโซนา

แต่อย่างไรก็ดี พรรคเดโมแครตคงต้องยอมรับว่าตัวเองโชคดีมากแล้วที่มีนักการเมืองอย่างแมนชินอยู่ในพรรค เพราะมลรัฐอย่างเวสต์เวอร์จิเนียเป็นมลรัฐสีแดงจัดที่ทรัมป์ชนะไบเดนไปถึงเกือบ 40% ดังนั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักการเมืองของเดโมแครตคนอื่นที่ไม่ได้ภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองสายกลางอย่างชัดเจนอย่างแมนชินจะชนะเลือกตั้งที่นี่ได้ (ซึ่งก็แปลว่าเดโมแครตจะมีเสียงในวุฒิสภาไม่ถึง 50 เสียง)

 

แมนชินคงจำเป็นที่ต้องโหวตสวนความต้องการของไบเดนและฝ่ายซ้ายในพรรคเป็นระยะๆ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองสายกลางของเขา เพื่อที่จะรักษาเก้าอี้ของเขาไว้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2024

 

ในเคสของซินีมา เธออาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นกลางมากเท่ากับแมนชิน เพราะมลรัฐแอริโซนาเป็นมลรัฐสีม่วง ที่ไม่ได้โหวตเข้าข้างเดโมแครตหรือรีพับลิกันตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ดี ชาวแอริโซนาดูจะชื่นชอบนักการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่โหวตตามแต่มติพรรคเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พวกเขาโหวตให้นักการเมืองผู้ล่วงลับอย่าง จอห์น แมคเคน เป็น ส.ว. ของพวกเขาติดต่อกันถึง 32 ปี ซึ่งแมคเคนเป็นนักการเมืองของพรรครีพับลิกันที่มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะ ส.ว. ที่มักจะโหวตสวนมติของพรรคอย่างเนืองๆ โดยการโหวตที่น่าจะเป็นที่จดจำได้มากที่สุดของเขา น่าจะเป็นการที่เขาโหวตสวนความต้องการของทรัมป์ ไม่ให้ยกเลิกกฎหมายหลักประกันสุขภาพของโอบามา ซึ่งดูเหมือนซินีมาพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ความเป็นอิสระจากพรรคแบบเดียวกับแมคเคน เพราะตอนที่เธอโหวตสวนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ เธอก็ออกไปที่หน้าบัลลังก์ของสภาแล้วยกนิ้วโป้งลง ท่าเดียวกับที่แมคเคนเคยทำตอนที่โหวตกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

 

นโยบายในฝันอีกหลายอย่างของฝ่ายซ้ายน่าจะไม่เกิดในรัฐบาลของไบเดน

การที่ทั้งแมนชินและซินีมาแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะโหวตสวนนโยบายซ้ายจัดเป็นสัญญาณเตือนไปยังไบเดนและฝ่ายซ้ายในพรรคว่า พวกเขาอาจไม่สามารถออกนโยบายหรือกฎหมายใดๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของทั้งสองคนนี้ นโยบายในฝันหลายอย่างของฝ่ายซ้ายอย่างการเพิ่มจำนวนตุลาการของศาลสูงสุด การให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเปอร์โตริโก และกรีนนิวดีล คงไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ภายใต้ Trifecta อันแสนเปราะบางของไบเดน

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X