×

Kyrie no Uta บทเพลงแด่ผู้คนที่แหลกสลาย

18.01.2024
  • LOADING...
Kyrie no Uta

จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ก็ตามที่อนิเมะญี่ปุ่นซึ่งเป็นขวัญใจของคนดูชาวไทยเมื่อต้นปี 2023 อย่าง Suzume no Tojimari ของ มาโกโตะ ชินไค กับหนังที่ถือครองสัญชาติเดียวกันซึ่งเพิ่งไปปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ผ่านมาอย่าง Kyrie no Uta ของ ชุนจิ อิวาอิ พูดประเด็นเดียวกัน นั่นคือความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติภายในประเทศ

 

หากย้อนมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสึนามิ แผ่นดินไหว ไปจนถึงเหตุอัคคีภัยต่างๆ ที่ถาโถมเข้าใส่ญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงต้นปี สิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องนำเสนอก็คงชัดเจนแจ่มแจ้งในตัวของมันเอง แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงองค์ประกอบไม่กี่อย่างที่ Suzume no Tojimari กับ Kyrie no Uta มีเหมือนกัน เพราะกรรมวิธีการนำเสนอของทั้งสองเรื่องแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

ใน Suzume no Tojimari เราจะได้เห็นการผจญภัยของเด็กสาวที่ถูกขับเคลื่อนด้วยฉากหน้าของการผนึกประตูเพื่อยับยั้ง ‘ภัยพิบัติ’ ขณะเดียวกันเธอเองก็เรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อเติบโตขึ้น แต่ Kyrie no Uta ตรงกันข้าม หนังเลือกใช้มันเป็นปมที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของตัวละครเพื่อปอกลอกให้เห็นถึงความแหลกสลายของพวกเขา

 

 

หรือว่าง่ายๆ จุดตัดที่ทำให้ Kyrie no Uta ไม่เหมือนกับ Suzume no Tojimari คือการจับจ้องผลกระทบทางจิตใจมากกว่าสถานที่ ในทำนองเดียวกัน หนังเรื่องนี้ของอิวาอิจึงเป็นเหมือนอีกด้านที่ถูกบอกเล่าออกมาเพื่อขยายให้เห็นถึงบาดแผลที่ติดแน่นทนนานของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

แต่ถึงอย่างนั้น อิวาอิก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังเพลง (เมโลดราม่า) ฉะนั้นน้ำหนักส่วนใหญ่ของหนังจึงไปตกอยู่ที่เพลง ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องไม้เครื่องมือที่อิวาอิชำนาญการอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะหนังหลายเรื่องของเขาล้วนมีดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญภายในงาน โดยเฉพาะ Swallowtail Butterfly (1996) และ All About Lily Chou-Chou (2001) ที่มีความคล้ายคลึงกับ Kyrie no Uta ในแง่ของการใช้เพลงเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวและความรู้สึกของตัวละคร

 

ทั้งนี้ กลไกที่ว่าก็เล่าผ่านชีวิตของ คิริเอะ (ไอนะ ดิ เอนด์) นักดนตรีสาวข้างถนนที่มักมีท่าทีเงียบขรึม กับ อิคโกะ (ฮิโรเสะ ซึสึ) เด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกันที่ตัดสินใจเป็นผู้จัดการให้กับคิริเอะ เพื่อทำให้พรสวรรค์ของเธอได้ถูกฟูมฟักในฐานะนักดนตรีจริงๆ แต่ไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรีเท่านั้นที่ดึงดูดอิคโกะให้เข้าหาคิริเอะ หากแต่เป็นมิตรภาพด้วยเช่นกัน

 

ว่าไปแล้วความสัมพันธ์ของพวกเธอก็ชวนให้นึกถึงสองตัวเอกจากหนังเรื่อง Hana & Alice (2004) ของอิวาอิ ถึงกระนั้น สำหรับ Kyrie no Uta ที่เล่าเรื่องทอดยาวตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการผสมผสานเรื่องของภัยพิบัติ การไว้อาลัย และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เพราะเขาปักธงเอาไว้แล้วว่านี่ไม่ใช่หนังที่ตีแผ่เรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังแต่เป็นหนังเพลง อย่างไรก็ดี อิวาอิก็ยังคงถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างเข้มข้นตามมาตรฐานของเขาในช่วงองก์ที่หนึ่งกับองก์ที่สอง ลากยาวมาจนถึงจุดไคลแมกซ์ของชายหนุ่มอย่าง ชิโอมิ (โฮคุโตะ มัตสึมูระ) ที่หนังค่อยๆ ปลดเปลื้องปูมหลังทางอารมณ์ที่หนักหน่วงซึ่งเชื่อมโยงกับตัวตนของคิริเอะในวัยเด็ก

 

 

แต่องก์สามของหนังซึ่งเป็นส่วนที่ควรจะสร้างความประทับใจที่สุดกลับสร้างความยืดเยื้อให้กับหนังเสียเป็นส่วนใหญ่ และต้นสายปลายเหตุก็มาจากการแสดงของ ไอนะ ดิ เอนด์ ในฐานะนักแสดงกับนักร้องดูไม่สอดประสานกัน หรือถ้าว่ากันตามตรง รัศมีความเป็นนางเอกของเธอมักฉายแสงยามที่ร้องเพลง แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่จะนำพาชีวิตอันแสนเจ็บปวดของตัวละครมาสู่สายตาของผู้คนผ่านวิธีการแสดง ซึ่งมันก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อหนังให้เธอสวมบทบาทเป็นทั้งคิริเอะและพี่สาวในปี 2011

 

โดยปริยาย อิคโกะ ที่นำแสดงโดย ฮิโรเสะ ซึสึ ที่มีประสบการณ์ด้านการแสดงเลยทำให้ตัวละครของเธอดูน่าเชื่อถือกว่า ส่วนเรื่องร้องเพลงก็ต้องตามกิตติศัพท์ของ ไอนะ ดิ เอนด์ เพราะงั้นจึงไม่แปลกที่คิริเอะจะดูน่าหลงใหลเวลาที่เธอร้องเพลง การแสดงของซึสึเลยเป็นเหมือนส่วนที่ช่วยเติมเต็มจุดที่ขาดตกบกพร่องไปของนักร้องสาวเวลาที่พวกเธอต้องอยู่ร่วมในฉากเดียวกัน

 

 

อีกอย่างที่น่าพูดถึงคือการตัดต่อที่สลับช่วงเวลาไปมาอย่างรวดเร็วจนทำให้จังหวะในช่วงท้ายของหนังมีความต่างจากช่วงแรกอยู่พอสมควร กระนั้นการเร่งความเร็วนี้ก็ไม่ได้ทำให้หนังกระชับ กลับกันมันยิ่งทำให้การร้อยเรียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งสัมพันธ์กับปัจจุบันไม่สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างสมบูรณ์จนส่งผลให้เรื่องราวบางส่วนของตัวละครดูขาดวิ่นไร้น้ำหนักทั้งที่ควรจะจับต้องได้จริง

 

สาเหตุก็เป็นเพราะเวอร์ชันที่ฉายทั่วไปมีความยาวเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชันญี่ปุ่นที่มีความยาว 3 ชั่วโมง และด้วยความยาวที่ห่างกันถึง 1 ชั่วโมงเต็ม หนังก็น่าจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากกว่า ทั้งหมดทั้งมวลเลยเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะเราคงไม่มีโอกาสได้ดูในส่วนที่หายไปเร็วๆ นี้

 

แม้ Kyrie no Uta จะไม่ใช่ผลงานที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ตราตรึงใจ’ แต่เซนส์ในการจับภาพเคลื่อนไหวของผู้คนยามค่ำคืนท่ามกลางแสงนีออนในโตเกียวก็ยังคงมีเสน่ห์เสมอ และหลายครั้งหลายคราก็อาจจะต้องเป็นหนังญี่ปุ่นเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้คนทำได้บันทึกภาพแบบนี้โดยที่คนดูไม่เกิดความรู้สึกพิลึกพิลั่นขณะรับชม ซึ่งกรณีของ Kyrie no Uta คนที่สมควรได้รับคำชมมากที่สุดก็คือ คันเบะ จิกิ ผู้กำกับภาพที่ทำงานร่วมกับอิวาอิในหนังเรื่องนี้

 

 

อย่างไรก็ดี การไม่กล่าวถึงเพลงของ ไอนะ ดิ เอนด์ ก็คงจะเรื่องบาปมหันต์ เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนมินิอัลบั้มของเธอ (ไอนะทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้ 6 เพลง) แต่จำนวนอาจไม่ได้สลักสำคัญนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่สื่อสารผ่านเสียงร้องอันแหบพร่าที่แฝงไปด้วยความรวดร้าว เปราะบาง และหลอกหลอนอย่างน่าแปลกประหลาด ซึ่งไม่ว่าหนังจะห่างไกลจากคนดูมากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่คงเห็นพ้องต้องกันคือมันจะไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้เลยหากปราศจากน้ำเสียงอันทรงพลังของเธอ

 

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น Kyrie no Uta เป็นหนังที่มีจุดมุ่งหมายในการตีตลาด J-Pop อย่างชัดเจน เพราะนอกจาก ไอนะ ดิ เอนด์ ที่เป็นอดีตสมาชิกวง BiSH นักแสดงที่มีบทบาทน้อยกว่าอย่าง โฮคุโตะ มัตสึมูระ ก็เป็นนักร้องและสมาชิกวงไอดอล SixTONES ฉะนั้นมันก็วัดใจคนดูทั่วไปเหมือนกันว่าหนังจะทำงานกับพวกเขาอย่างไร ส่วนคนที่อยู่ในฐานแฟนเพลงก็คงจะชื่นชอบได้ไม่ยาก แม้ช่วงเวลาที่ถูกตัดออกไปจะทำให้หนังเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ที่ดูยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

 

Kyrie no Uta เข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการ 18 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising