×

Kyodo News วิจารณ์ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้า เหตุไม่มีวัคซีนที่ผลิตเอง-ขั้นตอนอนุมัติเข้มงวด

โดย THE STANDARD TEAM
12.04.2021
  • LOADING...
Kyodo News วิจารณ์ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้า เหตุไม่มีวัคซีนที่ผลิตเอง-ขั้นตอนอนุมัติเข้มงวด

วานนี้ (11 เมษายน) สื่อญี่ปุ่นอย่าง Kyodo News รายงานว่า จนถึงวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีชาวญี่ปุ่นได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสแล้วราว 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งล่าช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก

 

สำนักข่าว Kyodo News รายงานสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นว่า ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ญี่ปุ่นยังคงอยู่ในขั้นตอนแรกของกำหนดการ โดยกลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนขั้นตอนถัดไปมีกำหนดเริ่มในวันนี้ (12 เมษายน) ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

 

Kyodo News เปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นกับประเทศที่พัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ จึงได้ข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า ข้อมูลของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรชี้ว่า อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 5 ในปัจจุบัน โดยอัตราการฉีดวัคซีนของอิสราเอลสูงถึงร้อยละ 61 ส่วนสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 46 และ 32 ตามลำดับ

 

Kyodo News วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นมีความล่าช้าคือการวิจัยและพัฒนาในประเทศที่ล่าช้า ซึ่งทำให้ไม่มีวัคซีนที่ผลิตในประเทศ และขั้นตอนการอนุมัติอันเข้มงวดที่ทำให้ล่าช้ากว่ายุโรปและสหรัฐฯ ราว 2 เดือน โดยต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ซึ่งการจะจัดซื้อได้นั้นจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตสถานที่ผลิตวัคซีน

ญี่ปุ่นกำหนดให้มีการทดลองทางคลินิกของวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับอาสาสมัครในท้องถิ่น ซึ่งข้อกำหนดที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นนี้เองที่ทำให้กระบวนการอนุมัติล่าช้า โดยจนถึงขณะนี้มีเพียงวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เท่านั้นที่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น ขณะที่วัคซีนของ AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีน Moderna ของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก และรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้

 

พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม

อ้างอิง: 

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X