×

รู้จัก Kurzarbeit อาวุธเด็ดที่เยอรมนีใช้แก้ปัญหาบริษัทปลดพนักงานช่วงวิกฤตโควิด-19

03.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Kurzarbeit คือโครงการทำงานระยะสั้นของรัฐบาลเยอรมนี ที่ช่วยจ่ายค่าแรงให้พนักงานบริษัทราว 2 ใน 3 ของเงินเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทปลดพนักงานจำนวนมากในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
  • ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ จะสามารถรักษาแรงงานทักษะไว้กับบริษัทได้ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหรือกลับสู่ภาวะปกติ

ช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 หลายบริษัทในเกือบทุกเซกเตอร์ของระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการตามนโยบายล็อกดาวน์ของภาครัฐ ขณะที่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนและลูกจ้างรายวันนับล้านคน ต่างเสี่ยงกับการถูกลอยแพ ถูกเลย์ออฟ บ้างก็ถูกลดเงินเดือน หรือให้พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 

 

แต่ที่เยอรมนีมีโครงการที่เรียกว่า ‘Kurzarbeit’ ซึ่งมีบริษัทเกือบ 5 แสนรายส่งพนักงานเข้าสู่ระบบการทำงานระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาการตกงานและขาดรายได้ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี

 

เราไปทำความรู้จักกันสักนิด กับโมเดลที่หลายประเทศอาจยึดเป็นแนวทางแก้ปัญหาคนตกงานและลดภาระรายจ่ายของภาคธุรกิจได้

 

Kurzarbeit ในภาษาเยอรมันแปลคร่าวๆ ได้ว่า ‘การทำงานระยะสั้น’ เป็นโครงการที่รัฐบาลเยอรมนีนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ช่วยบริษัทต่างๆ จ่ายค่าแรงราว 2 ใน 3 ของเงินเดือน เพื่อป้องกันบริษัทเลย์ออฟพนักงานจำนวนมากในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

 

โครงการนี้จะช่วยให้พนักงานรักษางานไว้ได้ แม้ว่าอาจจะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานและเงินเดือนลง แต่สิ่งสำคัญคือจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะแรงงานจะยังคงมีรายได้ ในขณะที่บริษัทต่างๆ ก็ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าจ้างพนักงาน อีกทั้งไม่ต้องสูญเสียแรงงานทักษะที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญเมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวหรือกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

 

เครื่องมือนี้เคยใช้ได้ผลในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 แม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวลง 5% ในปี 2009 และส่งผลกระทบต่อแรงงาน 1.1 ล้านคนในปีนั้น แต่ภายในสิ้นปีดังกล่าว อัตราการว่างงานของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 7.8% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในปี 2008 ซึ่งหมายความว่ามาตรการนี้ช่วยแก้ปัญหาคนตกงานได้บางส่วน

 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา โอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี ได้ประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือการกลับมาใช้นโยบาย Kurzarbeit โดยมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบเข้าสู่โครงการทำงานเพื่อรับผลตอบแทนระยะสั้นได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังขยายมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานชั่วคราวด้วย

 

รัฐบาลคาดว่าจะมีประชาชนราว 2.35 ล้านคนที่เข้าสู่ระบบค่าเลี้ยงชีพระยะสั้น หรือ ‘Kurzarbeitergeld’ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลราว 1 หมื่นล้านยูโร โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีการสำรองเงินไว้ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 2.6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งทำให้สามารถนำไปจ่ายสมทบค่าแรงให้กับบริษัทและพนักงานได้สบายๆ

 

โดยพนักงานเหล่านี้จะได้รับค่าแรงสูงสุดถึง 2 ใน 3 ของฐานเงินเดือน แม้พวกเขาจะทำงานอยู่บ้าน หรือไม่ได้ทำงานเลยก็ตาม

 

สเตฟาน ชไนเดอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารดอยซ์แบงก์ ให้ความเห็นกับ CNBC ว่า มาตรการ Kurzarbeit เป็นเครื่องมือที่ดีต่อทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เป็นหลักประกันความมั่นคงของรายได้ โดยเฉพาะในตอนที่เข้าสู่ภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

 

ชไนเนอร์มองว่า มาตรการปีนี้แตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อน เพราะตอนนั้นบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันมีบริษัทขนาดเล็กในภาคบริการเข้าร่วมด้วย เช่น ร้านอาหารและบริษัทที่ปรึกษา

 

ที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีหลายแห่งที่ส่งพนักงานเข้าโครงการทำงานระยะสั้น เช่น Lufthansa, BMW, Volkswagen และ Daimler ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะสามารถรักษาแรงงานทักษะหรือพนักงานที่ผ่านการฝึกฝนวิชาชีพมาอย่างดีไว้ได้ต่อไป

 

กล่าวโดยสรุป Kurzarbeit มีหลักการสำคัญคือ มองแรงงานทักษะว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อความสำเร็จของอุตสาหกรรมการผลิต ในด้านหนึ่งบริษัทต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการรักษาทรัพยากร ขณะเดียวกันก็ช่วยฝึกฝนพนักงานให้มีทักษะสูงได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ แรงงานเหล่านี้ก็จะกลับมามีบทบาทเป็นพลังขับเคลื่อนและรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไว้ได้

 

 

ภาพ: Getty

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X