“มาเลเซียต้องการบุคคลที่มีความเป็นรัฐบุรุษเช่นทักษิณ เพื่อแบ่งปันทั้งประสบการณ์และแนวคิดกับประธานอาเซียน…”
อันวาร์ อิบราฮิม
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
กล่าวนำ
ในระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาส่วนตัว’ ของ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะของประธานอาเซียน
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นหัวข้อข่าวสำคัญในเวทีการเมืองภูมิภาค เท่าๆ กับเป็นประเด็นข่าวใหญ่ทั้งในการเมืองไทยและในการเมืองมาเลเซียเช่นกันด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนของข่าวในสื่อไทยนั้น การแต่งตั้งที่เกิดดูจะกลบสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศไปโดยปริยาย ทั้งที่มีประเด็นสำคัญหลายเรื่องในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับในความเป็นจริงอย่างมากว่าการแต่งตั้งครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเวทีการเมืองภูมิภาค แต่เพื่อให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงการแต่งตั้งดังกล่าวในส่วนของสังคมไทย เราอาจต้องยอมก้าวข้ามปัญหา ‘จริตทางการเมือง’ ที่มีนัยถึง ‘ความชอบ-ไม่ชอบ’ ที่มีต่อตัวทักษิณออกไปก่อน เพราะบทบาทของทักษิณด้านหนึ่งถูกจับจ้องและอยู่ใน ‘แสงสปอตไลต์’ และทำให้มีการตีความถึงบทบาทของเขาตลอดเวลา และอาจถูกจับจ้องในทุกเรื่องด้วย
แต่ในอีกด้าน บทบาทการเคลื่อนไหวของทักษิณเองมักมีสภาวะของการเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ อยู่เนืองๆ เนื่องจากบทบาทดังกล่าวของเขาเป็นประเด็นที่มองได้ 2 มุม หรืออาจกล่าวได้ว่า บทบาทของทักษิณในบริบทของการเมืองไทยนั้นทำให้เกิดภาพที่สามารถตีความได้ 2 ด้าน ตาม ‘จริตการเมือง’ ของผู้เฝ้ามองแต่ละคนเสมอ
จนหลายครั้งการตีความที่เกิดเป็นผลของ ‘จริต’ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ผู้มองมีต่อตัวอดีตนายกฯ ทักษิณเอง เพราะความเป็นตัวตนในทางการเมืองของทักษิณนั้นมีความเป็น ‘Controversial’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ‘กระแสต่อต้านทักษิณ’ ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2547-2548 จนนำไปสู่รัฐประหาร 2549 และขับเคลื่อนซ้ำ อันนำไปสู่การยึดอำนาจในปี 2557 นั้นยังดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทย (ดูตัวอย่างกระแสต่อต้าน เช่น ‘เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบระบอบทักษิณภาค 2’ ไทยโพสต์, 21 ธันวาคม 2567)
แม้กระแสนี้จะอ่อนแรงลงในเงื่อนไขของเวลาและสถานการณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วกระแสนี้ยังมีอยู่ ทั้งยังมีแรงขับเคลื่อนด้วย เป็นแต่เพียงไม่มีความรุนแรงและขยายวงกว้างได้มากเช่นในอดีต ดังนั้นการแต่งตั้งจากผู้นำมาเลเซียจึงก่อให้เกิดการตีความอย่างมาก (และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ในสังคมไทย
หลากประเด็น-หลายมุมปัญหา
ดังนั้นเพื่อให้สะดวกในการทำข้อพิจารณาต่อสิ่งที่เกิดจากการแต่งตั้งดังกล่าว ก็จะขอตัดประเด็น ‘จริต’ ทางการเมืองออกไปก่อน ซึ่งจะทำให้เราตั้งข้อสังเกตโดยอาจจะมองจากมุมของฝ่ายผู้แต่งตั้งคือผู้นำมาเลเซียเป็นหลัก ซึ่งน่าจะสามารถตีความได้ดังนี้
- การแต่งตั้งทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาของผู้นำต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาเคยเป็นที่ปรึกษาของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาแล้ว และดังที่ทราบกันดี การแต่งตั้งในครั้งนั้นก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากในการเมืองไทยเช่นเดียวกัน
- การแต่งตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย และอาจต้องตีความเป็นทิศทางหลักว่าเป็นเรื่องของความพยายามในการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมาของผู้นำมาเลเซีย และน่าจะมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาเช่นนี้จากประเทศอื่น เช่นสิงคโปร์ร่วมด้วย ไม่ใช่จะมีเฉพาะกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณเท่านั้น
- การแต่งตั้งนี้สอดรับกับการที่ในปี 2025 (2568) มาเลเซียจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนตามวาระ ต่อจากการเป็นประธานอาเซียนของสปป.ลาว (มาเลเซียในช่วงที่ผ่านมาเคยเป็นประธานอาเซียนแล้วในปี 1977 (2520), 1997 (2540), 2005 (2548) และ 2015 (2558))
- สำหรับการเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ ผู้นำมาเลเซียได้เสนอคำขวัญในการขับเคลื่อนอาเซียนว่า ‘Inclusion and Sustainability’ ซึ่งทำให้การลดทอนปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาเป็นวาระสำคัญในตัวเองของการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย
- โจทย์สำคัญประการหนึ่งที่ท้าทายผู้นำมาเลเซียคือ การผลักดันฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน และการแสวงหาช่องทางในการสร้างสันติภาพในเมียนมา การผลักดันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผู้นำรัฐประหารเมียนมาใช้วิธีการแบบ ‘ดื้อแพ่ง’ ต่อข้อเสนอของอาเซียนมาโดยตลอด
- หลายครั้งแล้วที่ผู้นำทหารเมียนมาอาศัยความสัมพันธ์ของความเป็นผู้นำทหาร หรือ ‘ความสัมพันธ์ทหาร-ทหาร’ ระหว่างไทย-เมียนมา เป็นเครื่องช่วยป้องกันแรงกดดันจากอาเซียน ฉะนั้นการดึงผู้นำไทยให้เข้าร่วมเป็นพลังในการแก้ปัญหาสงครามเมียนมาในกรอบของอาเซียนจึงเป็นความจำเป็นในตัวเอง
- หลังจากประกาศแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาในระหว่างการพบกับนายกฯ ไทยแล้ว สื่อมาเลเซียยังรายงานว่า นายกฯ อันวาร์ ยังเตรียมที่จะพบกับ ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และทักษิณ ที่เกาะลังกาวี ในวันที่ 26 ธันวาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นและปัญหาในภูมิภาคและปัญหาของอาเซียน ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึงปัญหาในเมียนมาด้วยอย่างแน่นอน (ดูรายละเอียดใน ‘สื่อมาเลฯ เผย ‘อันวาร์’ เตรียมพบ ‘ทักษิณ’ 26 ธ.ค. ที่ลังกาวี ถกประเด็นพัฒนาอาเซียน’ สำนักข่าวอิศรา, 22 ธันวาคม 2567 และ ‘Anwar to meet Prabowo, Thaksin in Langkawi next week to discuss regional issues, ASEAN’ The Edge Malaysia, 21 December 2024)
- ในอีกด้านหนึ่ง อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนครั้งก่อนหน้านี้มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันฉันทมติ 5 ข้อ แต่กลับไม่สามารถขับเคลื่อนได้จริง การพบกันของผู้นำ 3 ชาติจึงเป็นความพยายามที่จะ ‘ผนึกกำลังร่วมกัน’ ในการจัดการกับปัญหานี้ เพราะในช่วงเวลานั้นบทบาทของรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้ง 2566 ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนการผลักดันฉันทมตินี้เท่าใดนัก
- โจทย์สำคัญอีกส่วนของปี 2568 คือรัฐบาลทหารเมียนมาต้องการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมาก เพราะผู้นำทหารเมียนมาจะอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมให้ระบอบรัฐประหารที่จะดำรงอยู่ต่อไป
- ในความเป็นจริงแล้วหลายฝ่ายมองไม่ออกถึงความเป็นไปได้ในการจัดการเลือกตั้งที่ ‘เสรีและเป็นธรรม’ (Free and Fair Election) ท่ามกลางสถานการณ์สงครามเช่นนี้ เช่น ปัญหาการสำรวจและทำทะเบียนการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของเมียนมา น่าจะเป็นไปได้ยาก
- อาเซียน (โดยประธานอาเซียนคือมาเลเซีย) จะตอบรับกับการเลือกตั้งในเมียนมาหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งนี้จะทำให้ปี 2568 เป็น ‘ปีแห่งความกระอักกระอ่วนใจ’ ของอาเซียน และรวมถึงไทยด้วย ว่าจะวางนโยบายต่อการเลือกตั้งดังกล่าวอย่างไร แม้จะมีเสียงวิจารณ์ผู้นำไทยว่าได้แสดงท่าทีตอบรับไปแล้วในเวทีการประชุมที่จีน
- ไม่ว่าผู้นำไทยจะตอบไปแล้วอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วผู้นำไทย ‘ควร’ ต้องรอความชัดเจนจากการตัดสินใจของอาเซียน เพราะสำหรับท่าทีต่อปัญหานี้ไทยไม่ควรแสดงออกในลักษณะที่แตกต่างไปจากนโยบายของอาเซียน แม้กลุ่มอิทธิพลบางส่วนในการเมืองไทยจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาก็ตาม
- ผู้นำไทยต้องตระหนักเสมอว่าท่าทีและการแสดงออกของไทยต่อปัญหาสงครามเมียนมามีความละเอียดอ่อน และไม่ควรเป็นการแสดงออกอย่างเป็น ‘เอกเทศ’ โดยไม่ใส่ใจต่อการกำหนดทิศทางของอาเซียน กล่าวคือ ไทยจะต้องไม่ ‘แหกมติ’ อาเซียน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นที่เคยเป็นมาในช่วงก่อนหน้านี้
- ประเทศที่ ‘น่าจะ’ ตอบรับกับการสร้างสันติภาพเมียนมาผ่านการเลือกตั้งอย่างแน่นอนคือจีน และอาจมีนัยที่รวมถึงรัสเซียด้วย เพราะทั้ง 2 ประเทศยังมีทิศทางต่อการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับผลประโยชน์จีนแล้ว จีนไม่สามารถ ‘ทิ้ง’ รัฐบาลทหารได้ในสถานการณ์ ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ เช่นในปัจจุบัน
- ในอีกด้าน ก่อนที่ สปป.ลาว จะหมดวาระของการเป็นประธานอาเซียนในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ไทยได้ช่วยผลักดันให้เกิดเวทีการคุยเรื่องเมียนมาในวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 6 ชาติ คือ บังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารจะตอบรับกับการประชุมครั้งนี้เพียงใด ซึ่งจะเป็นงานส่งท้ายต่อวาระการเป็นประธานของ สปป.ลาว ในปีปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะมีความเห็นแย้งอย่างไร เวทีนี้จะช่วยให้เราเห็นท่าทีของรัฐบาลทหารชัดเจนขึ้น และช่วยต่อการกำหนดท่าทีของไทยต่อปัญหาเมียนมาในอนาคตด้วย
- ประเด็นสำคัญในอีกส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับบนเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์คือ การเปิดเวทีสันติภาพเมียนมายังจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือของรัฐบาลไทย หากปราศจากความร่วมมือของไทยแล้ว เวทีการพูดคุยเรื่องนี้จะเดินหน้าไปได้อย่างยากลำบาก (เห็นได้จากข้อวิจารณ์ที่มีต่อบทบาทของรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้ง 2566 ที่เป็นไปในทางลบ อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่าจะเดินไปในทิศทางของอาเซียน)
- อดีตนายกฯ ทักษิณเคยดำเนินการ ‘การทูตแทร็ก 2’ (Track 2 Diplomacy) มาแล้ว จากการเปิดเวทีที่เชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ของปีปัจจุบัน แต่ต้องยุติไปด้วยเงื่อนไขทางการเมืองไทยบางประการ การแต่งตั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามถึงบทบาทของ ‘แทร็ก 2’ ของทักษิณว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรในอนาคต
- การที่นายกฯ อันวาร์ ดึงทักษิณให้มาช่วยยังอาจมาจากประเด็นความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้นำทหารเมียนมาในปัจจุบัน (ในช่วงสมัยรัฐบาลไทยรักไทย) ซึ่งก็ท้าทายว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต เพราะผู้นำทหารเมียนมามักจะใช้วิธีปฏิเสธที่จะเข้าร่วมใน ‘เวทีทางการ’ ในการหาลู่ทางสำหรับการยุติปัญหาสงคราม การเริ่มต้นด้วย ‘การประสานอย่างไม่เป็นทางการ’ ในแบบของแทร็ก 2 น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญในกรณีนี้
- การดำเนินการแก้ปัญหาเมียนมาจึงมีความจำเป็นต้องอาศัย ‘การทูตแบบไม่เป็นทางการ’ ของแทร็ก 2 การทูตเช่นนี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการผลักดันการแก้ปัญหาเมียนมาของผู้นำมาเลเซีย อันทำให้บทบาทของทักษิณน่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญในเวทีอาเซียน รวมถึงบทบาทของเขาในการติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยอีกส่วนด้วย
- คงต้องยอมรับในบริบทระหว่างประเทศว่าการมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในเมียนมาเป็น ‘บทบาทเชิงบวก’ ของไทย เพราะการคลี่คลายของสถานการณ์สงครามกลางเมืองเมียนมาเป็น ‘ผลประโยชน์สำคัญ’ (Vital Interest) ของไทยเสมอ เพื่อที่อย่างน้อยประเทศไทยจะไม่ถูกกระทบจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้านจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทยเอง
- ความยุ่งยากที่ท้าทายอย่างมีนัยสำคัญคือปัญหา ‘ตัวแสดงภายใน’ (Internal Actors) ของการเมืองเมียนมา ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนในตัวเองอย่างมากคือ รัฐบาลทหาร (SAC) รัฐบาลพลัดถิ่นหรือรัฐบาลประชาธิปไตย (NUG) และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) การจะทำให้ทั้ง 3 กลุ่มยอมนั่งโต๊ะเพื่อการเจรจา อันจะเป็นเงื่อนไขของการยุติสงครามกลางเมืองนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย
- แต่อย่างน้อยในเบื้องต้นนั้น บทบาทของ ‘ตัวแสดงไทย’ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับการดำเนินการของประธานอาเซียนในปี 2568 ที่จะผลักดันฉันทมติของอาเซียน การต้องชักชวนให้ผู้นำทหารเมียนมาให้ยอมรับฉันทมตินี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
- ในความเป็นจริงแล้วทุกฝ่ายจะต้องตระหนักเสมอถึงความซับซ้อนและความยุ่งยากของปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และทั้งยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และเกี่ยวโยงถึงบทบาทของรัฐภายนอกที่อยู่ภายในและภายนอกภูมิภาค ซึ่งต่างก็มีผลประโยชน์ในเมียนมา และรัฐเหล่านี้มีทั้งเป็นมหาอำนาจและไม่เป็นมหาอำนาจด้วย ซึ่งบทบาทของ ‘ตัวแสดงภายนอก’ ทั้งหลายเหล่านี้ (External Actors) เป็นโจทย์ที่ยุ่งยากและซับซ้อนอีกแบบ
- การเปิด ‘เวทีการทูต’ ในการแก้ปัญหาเมียนมานอกจากจะช่วยอาเซียนแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างบทบาทด้านการต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน และการจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ รัฐบาลอาจต้อง ‘คิดใหม่-ทำใหม่’ ในงานด้านการต่างประเทศของไทยอีกด้วย
- ความหวังที่จะดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวถูกทับซ้อนด้วยการเมืองของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กลุ่มต่อต้านทักษิณในไทย ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียก็ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งเช่นกัน จนดูเหมือนเราจะลืมไปว่าอย่างน้อยการแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้เราเห็นการทำงานร่วมกันของผู้นำอาเซียนในการแก้ปัญหาภายในภูมิภาค และถ้าความสำเร็จเกิดขึ้นเพียงแค่สามารถลดระดับความรุนแรงของสงคราม และทำให้ชีวิตของผู้คนในสังคมเมียนมากลับสู่ ‘ภาวะปกติ’ ได้บ้างแล้ว ก็จะเป็นความสำเร็จอย่างสำคัญของพวกเราในอาเซียนร่วมกัน แทนที่จะเตรียมหาทาง ‘ตั้งป้อม’ ทะเลาะกันไม่จบ เพียงเพราะ ‘จริต’ ที่เรา (ทั้งนักสังเกตการณ์ นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชนบางส่วน) ไม่ชอบคนโน้น หวาดระแวงคนนี้ อันเป็นผลจากบริบทของการเมืองภายในของแต่ละคน จนลืมไปว่าสงครามเมียนมาเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาคและต้องการการแก้ไข มากกว่าปล่อยให้อาเซียนเป็นเพียง ‘ผู้ดู’ แบบไม่ทำอะไรอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อปัญหาของภูมิภาค
- ขณะเดียวกันพึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาแก้ไม่ง่าย และเป็นโจทย์ยากที่สุดชุดหนึ่งของเวทีการเมืองภูมิภาคและการเมืองโลก ซึ่งท้าทายทั้งต่ออาเซียน กับบทบาทในเชิงองค์กรต่อการแก้ปัญหาสงครามที่เกิดในประเทศสมาชิก และในอีกด้านก็ท้าทายต่อการเป็นประธานอาเซียนของผู้นำมาเลเซียอย่างมาก และถ้าแก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ได้มากอย่างที่คาด ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะด้วยความซับซ้อนของปัญหาแล้ว ก็ไม่ชัดเจนว่าการรวมพลังของอาเซียน (ที่มีทักษิณเป็นตัวแสดงหนึ่ง) ในกรอบเวลาการเป็นประธานของมาเลเซียนั้น จะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ยอมรับฉันทมติอาเซียนได้เพียงใด และความคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคตอย่างมากด้วย
- การรวมพลังในอาเซียนครั้งนี้อย่างน้อยสะท้อนว่าอาเซียนมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาภายในของตนเอง และไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐมหาอำนาจภายนอกเข้ามา ‘ชี้นำ’ ให้เราทำ
- ขณะเดียวกัน สงครามเมียนมาเป็นความท้าทายต่อบทบาทของรัฐบาลไทยและตัวผู้นำของไทยเสมอ เพราะในบริบทของความเป็นรัฐเพื่อนบ้าน ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมามีผลกระทบทางยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยจะละเลยไม่ได้ ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าทักษิณจะสามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเมียนมาของประธานอาเซียนได้เพียงใดในอนาคต เพราะการลดลงของระดับความรุนแรงจากสงครามถือเป็น ‘ผลประโยชน์ด้านความมั่นคง’ ของไทยเสมอ โดยเฉพาะจะเป็นโอกาสในการจัดการกับ ‘กลุ่มจีนเทา’ ที่อาศัยพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาในการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนในสังคมไทยทุกวัน
- สังคมไทยต้องมองปัญหาสงครามเมียนมาด้วยมุมมองทางยุทธศาสตร์ เพราะปัญหานี้เป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์ของไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับ ‘ปัญหาข้างบ้าน’ ชุดนี้ไม่แตกต่างกัน… เผชิญกับการบ่อนทำลายของจีนเทาไม่แตกต่างกัน
- หากจะมีประเด็นพ่วงสักนิดในมุมมองของความเป็นคนในสังคมไทย ก็คงเป็นว่าอยากเห็นรัฐบาลมาเลเซียช่วยเหลือประเทศไทยในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบของกลุ่มมุสลิมสุดโต่งคือ กลุ่ม BRN ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ดำเนินการใช้ความรุนแรงด้วยการก่อเหตุในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (เหมือนเช่นที่รัฐบาลและกองทัพบกไทยในยุคสงครามเย็นเคยมีส่วนสำคัญในการยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในมาเลเซีย)… ขอพ่วงความคาดหวังนี้ไปกับอดีตนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ อันวาร์ ด้วยครับ
ภาพ: Reuters, ShutterStock