เกิดอะไรขึ้น:
ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ 1.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY และ 24% QoQ โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นหลักๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 12% YoY รวมถึงต้นทุนสินเชื่อ (Credit Cost) ที่ลดลง 92 bps YoY และลดลง 221 bps QoQ สู่ระดับ 6.37% ขณะที่เงินให้สินเชื่อยังเติบโต 8% YoY แต่หดตัว 6% QoQ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้น 26 bps YoY แต่ลดลง 3 bps QoQ และรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย (Non-Net Interest Income: NII) ลดลง 5% YoY และลดลง 8% QoQ
กระทบอย่างไร:
เช้าวันนี้ (20 เมษายน 2563) ราคาหุ้น KTC ปรับขึ้นสู่ระดับ 34.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.82% DoD จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.75 บาท ก่อนที่จะปรับลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.00 บาท ในช่วงบ่าย และสิ้นวันปิดตลาดที่ราคา 32.75 บาท ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ยังเติบโตได้และสูงกว่าที่ SCBS คาดการณ์ไว้ 25% เนื่องจากการตั้งสำรองที่น้อยกว่าคาด บ่งชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับด้านคุณภาพสินเชื่ออย่างอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4% จาก 1.06% ณ สิ้นปี 2563 เนื่องจากการนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ ทำให้บริษัทตัดหนี้สูญได้ช้าลง เนื่องจากจะตัดหนี้สูญได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ หากใช้มาตรฐานเดิม KTC จะรายงานอัตราส่วน NPL ที่ 1.21%
มุมมองระยะยาว:
KTC ระบุว่าการประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่อาจสามารถทำได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบได้ในไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ SCBS ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2563 ต้นทุนสินเชื่อ (Credit Cost) ของ KTC จะเพิ่มขึ้นราว 66 bps สู่ระดับ 8.5% เพื่อสะท้อนผลกระทบของโควิด-19 แต่จะยังได้ปัจจัยบวกชดเชยซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ลงจากมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อ และการตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อภายใต้มาตรการเยียวผลกระทบ นอกจากนี้ SCBS คาดว่าเงินให้สินเชื่อปี 2563 จะขยายตัวชะลอลง 2.95% YoY (จากขยายตัว 9.76% YoY ในปี 2562) ตามทิศทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง
จากต้นทุนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และเงินให้สินเชื่อที่เติบโตชะลอลง ทำให้ SCBS คาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 ของ KTC จะอยู่ที่ 5.14 พันล้านบาท หดตัว 6.9 YoY อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ หรือมีการระบาดรอบที่ 2 รวมถึงภาครัฐออกมาตรการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม:
% YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
% YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
% QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
1 Basis Points หรือ bps เท่ากับ 0.01%
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์