×

อ่านแผน KTC ปี ‘64 สู้เศรษฐกิจชะลอรุกตลาดสินเชื่อใหม่-ลีสซิ่ง หวังปั้นกำไรฯ New High

15.03.2021
  • LOADING...
อ่านแผน KTC ปี ‘64 สู้เศรษฐกิจชะลอรุกตลาดสินเชื่อใหม่-ลีสซิ่ง หวังปั้นกำไรฯ New High

ธุรกิจบัตรเครดิตปี 2563 ที่ผ่านมาเจอผลกระทบหนักจากโควิด-19 และส่งผลต่อกำลังซื้อของไทยตลอดทั้งปี 2564 แต่ ‘KTC’ หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ราคาหุ้นกลับพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่องจากปีก่อน

 

แล้วแผนงานปี 2564 นี้ KTC จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางธุรกิจอย่างไร 

 

KTC รุกหนักสินเชื่อมีหลักประกัน-ลีซซิ่ง หากำไรใหม่ในวันที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตลดลง

 

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า ปี 2564 นี้บริษัทฯ ยังต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลความผันผวนในปี 2563 ที่โควิด-19 กระทบประชาชนทั่วไปในทุกกลุ่ม อาทิ ภาคบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และซัพพลายเชน ต่างๆ ทำให้ปี 2563 ที่ผ่านมา ในช่วงไตรมาส 2 มีการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น ส่วนไตรมาส 3 มีการตัดจำหน่ายหนี้ (Write-off) ราว 3,000 ล้านบาท 

 

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC 

 

ทั้งนี้ จากการดำเนินการในปีก่อน ทำให้ปี 2564 คาดว่า KTC ไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม และจะควบคุมคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นพอร์ตที่มีคุณภาพโดยสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.8% แบ่งเป็น NPL บัตรเครดิต 1.3% และ NPL สินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) 2.7%

 

แต่บริษัทยังมุ่งสร้าง New High ด้านกำไรสุทธิในทุกปี (ปี 2563 กำไรฯ 5,332 ล้านบาท ลดลงจากโควิด-19) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ที่ทำให้ผลตอบแทนลดลง แต่ความเสี่ยงในตลาดยังเพิ่มขึ้น ดังนั้น KTC จึงเริ่มรุกตลาดสินเชื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อมีหลักประกันที่จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ได้แก่

 

  • สินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้ม ที่เริ่มตั้งไข่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
    • ตั้งเป้าหมายปี 2564 จะมียอดสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ลาล่ามูฟ และสาขาธนาคารกรุงไทย ซึ่งปีนี้จะขยายบริการในต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มในภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบน  
    • บริษัทมีเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อผ่านระบบเดลิเวอรีให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 80% ปัจจุบันอยู่ที่ 60%
    • มองว่าอัตราดอกเบี้ยธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ พี่เบิ้มอยู่ที่ 21% ยังสามารถแข่งขันในตลาดได้ จากความสะดวกและการบริการ 
  • การเข้าซื้อหุ้น กรุงไทย ลีสซิ่ง 75.05% ขณะนี้เตรียมขออนุมัติผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2564 และต้องขออนุมัติขอบเขตต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อมีการโอนหุ้นเสร็จสิ้น ทาง KTC จึงจะเข้าไปวางแผนงานในกรุงไทย ลีสซิ่ง ได้เต็มตัว เบื้องต้นคาดว่าสิ้นเดือนเมษายน 2564 จะสามารถเริ่มโอนหุ้นได้

 

 

ปี 2564 ต้องคุมต้นทุนทางการเงิน ออกหุ้นกู้ 12,000 ล้านบาท เผยนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นเพิ่ม

 

ชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน KTC กล่าวว่า การขยายสู่ธุรกิจลีซซิ่งจะทำให้ KTC ทำธุรกิจได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน เช่น เครื่องจักร หรืออาจจะมีสินเชื่อรถยนต์ Car for Cash ฯลฯ โดยจะมีกรุงไทยสนับสนุนทั้งช่องทางการแนะนำลูกค้าหรือสนับสนุนทางการเงิน ซึ่ง KTC จะเป็นเหมือนแขนที่ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยให้กรุงไทยด้วย ส่วนการ Write-off ปกติจะเฉลี่ยไตรมาสละ 1,300 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ปี 2564 วางแผนออกหุ้นกู้ 12,000 ล้านบาท โดยต้นปีนี้ออกไปแล้ว 3,000 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 1.3% อายุ 3 ปี) เพื่อขยายธุรกิจ และช่วงที่เหลือของปีนี้จะออกอีก 9,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ โดยจะหันมาออกหุ้นกู้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 5 ปีมากขึ้น จากเดิมที่จะออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ทำให้สัดส่วนหุ้นกู้ระยะจะอยู่ที่ 30% และระยะยาวอยู่ที่ 70% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% โดยต้นทุนทางการเงินปี 2563 อยู่ที่ 2.7% และปีนี้จะปรับลดลงอีก


ส่วนกรณีราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะมาจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศสนใจหุ้น KTC มากขึ้น โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติอยู่ที่ 9.62% (ณ ธันวาคม 2563) เพิ่มสูงขึ้นจาก 2-3 ปีก่อนที่อยู่ราว 7%

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

KTC รับกำลังซื้อลดลง ชี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรต่อหัวเหลือ 7,000 บาท หวังปี 2564 กลับมาโต 8% 

 

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวว่า ปี 2564 ธุรกิจบัตรเครดิตยังต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (ธันวาคม 2563) ทำให้สถานการณ์ยังไม่ฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19 แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้าง โดยต้นปีนี้ติดลบ 1% โดยมีแรงส่งจากการซื้อของผ่านออนไลน์ที่ยังเพิ่มขึ้น

“ช่วงที่ผ่านมาพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัตรลดลงมาอยู่ที่ 7,000 บาทต่อเดือน จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 8,000 บาท สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากราคาสินค้าที่ปรับลดลง”

 

ส่วนปี 2564 มองว่ากำลังซื้อของไทยจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่กลุ่มท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างมาก ดังนั้นกลยุทธ์หลักของปีนี้จึงไม่ใช่การขยายฐานบัตรใหม่ให้มากขึ้น แต่เป็นการขยายพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพ โดยจะดึงกลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรอยู่แล้วให้ใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น ส่วนปีนี้น่าจะมีการออกบัตร Co-Brand 1-2 ใบ คาดว่าจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 

 

อย่างไรก็ตามปีนี้คาดว่า KTC จะเข้าถึงฐานลูกค้าที่รายได้สูงกว่า 30,000 บาทมากขึ้น โดยปี 2563 ที่ผ่านมาจากฐานลูกค้าบัตรใหม่มีกลุ่มลูกค้ารายได้สูงนี้ 30% ส่วนอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตอยู่ที่ 35% และจะทรงตัวตลอดทั้งปี 2564

 

สุดท้ายนี้ธุรกิจของ KTC จะปรับสัดส่วนไปอย่างไร ยังต้องติดตามการอนุมัติของผู้ถือหุ้นและ ธปท. ในช่วงเดือนเมษายน 2564 รวมถึงปัจจัยใหม่ๆ ที่อาจกระทบธุรกิจหลักของ KTC ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X