×

KTC ทุ่มงบ 594 ล้านบาท ซื้อหุ้น ‘เคทีบี ลีสซิ่ง’ ถือสัดส่วน 75% ลุยธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเต็มสูบ

11.02.2021
  • LOADING...
เคทีบี ลีสซิ่ง

สมรภูมิธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลัง บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กระโดดเข้าสู่สนามนี้อย่างเต็มตัว ล่าสุดที่ประชุมบอร์ดเคทีซี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ได้อนุมัติให้เคทีซีเข้าลงทุนใน บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ ‘เคทีบี ลีสซิ่ง’ ซึ่งทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย 

 

การเข้าลงทุนของเคทีซีครั้งนี้ เป็นการซื้อหุ้นสามัญจำนวน 75.05 ล้านหุ้น คิดเป็น 75.05% มีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) อยู่ที่หุ้นละ 10 บาท โดยซื้อในราคาหุ้นละ 7.92 บาท คิดเป็นเงินลงทุนรวม 594.39 ล้านบาท  

 

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซีกล่าวว่า การซื้อขายครั้งนี้มีเงื่อนไขการปรับปรุงราคาซื้อขายหุ้นในภายหลังให้เป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ในขณะที่ธนาคารกรุงไทยยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 24.95% โดยจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อขออนุมัติเข้าทำรายการดังกล่าว ซึ่งจะต้องได้รับมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับคะแนนเสียงในส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และธนาคารกรุงไทยจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

 

“เหตุผลการเข้าซื้อเคทีบี ลีสซิ่งในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต มีสาขาบริการตั้งอยู่ในหัวเมืองหลักของทุกภูมิภาคในไทย และสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ซึ่งจะช่วยเติมเต็มและสร้างโอกาสให้เคทีซีสามารถแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้กว้างขวาง ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ต่อยอดจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ‘เคทีซี พี่เบิ้ม’ เพื่อให้ทำธุรกรรมได้ครบวงจร ซึ่งเคทีซีได้เริ่มเบนเข็มทำธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา”

 

 

ระเฑียร กล่าวย้ำว่า การเข้าลงทุนใน ‘เคทีบี ลีสซิ่ง’ จะทำให้บริษัทฯ ได้มาซึ่งฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง และพันธมิตรธุรกิจที่จะก่อให้เกิดการผนึกกำลังสำคัญ ประกอบกับจุดแข็งของเคทีซีในการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของทีมบริหาร บุคลากร และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ จะเอื้อประโยชน์ให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ของทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มภายหลังจากการเข้าถือหุ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising