KTC โชว์ผลงานปี 2567 ทำกำไรสุทธิโต 7,437 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตพุ่ง ส่วนพอร์ตสินเชื่อหดตัวเพราะบริษัทคัดกรองคุณภาพความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างสู่องค์กรดิจิทัล สานต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทุกมิติ
พิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคจะชะลอตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แต่ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 บริษัทยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมีสัดส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น
ขณะที่สัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 15.0% จาก 14.7% และสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6.6% จาก 6.3%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- KTC มองเศรษฐกิจปี 68 มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดหนุนพอร์ตสินเชื่อรวมโต 4-5% ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกใหม่ 2.5 แสนราย
- กลุ่มบริษัท KTC รวมกำไร 9 เดือนแรก 5,549 ล้านบาท ท่ามกลางกำลังการบริโภคที่ชะลอตัว
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท KTC ปี 2567 มีรายได้รวมเท่ากับ 27,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากปี 2566 จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม รวมถึงหนี้สูญได้รับคืนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 18,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% จากค่าใช้จ่ายในการบริหาร โดยหลักๆ เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจ่ายที่สูงขึ้นตามปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว
ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 14.7% จากปี 2566 เป็นผลจากการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นตามนโยบายการตัดหนี้สูญใหม่และการตั้งสำรองสูงขึ้นตามหลักความระมัดระวัง นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จาก 2.6% ในปี 2566 เนื่องจากมีหุ้นกู้บางส่วนครบกำหนดและ KTC มีการออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นกว่าในอดีต เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น
เมื่อมาดูในส่วนของผลกำไรในปี 2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 111,162 ล้านบาท ลดลง 1.1% ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังเน้นสร้างการเติบโตมูลค่าพอร์ตควบคู่ไปกับการคัดกรองคุณภาพภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตหดตัว 0.7% เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่มีส่วนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ 1.1% จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน สำหรับ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 1.95% บรรลุตามกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ ≤ 2% อัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 อยู่ที่ 10.1% โตกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นผลจากการจัดกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีฐานสมาชิกรวม 3,488,156 บัญชี โดยแบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,799,301 ใบ เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 73,954 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 เท่ากับ 292,146 ล้านบาท NPL Ratio บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.25% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลรวม 688,855 บัญชี คิดเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 35,096 ล้านบาท
นอกจากนี้ KTC ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) โดยบริษัทจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังตลอดปี 2567 นับตั้งแต่เกณฑ์ SPD มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 และในเดือนสิงหาคม 2567 ธปท. ได้ออกข่าวว่าจะมีการขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายในระยะเวลา 5 ปี เป็น 7 ปี เพื่อลดภาระค่างวดต่อเดือน
ทั้งนี้ ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อสรุปรายละเอียดเงื่อนไข โดยในปี 2567 KTC มีลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการคิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริงลดลงไปประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน โดยคำนวณจากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์และเข้าร่วมโครงการ
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2568 อยู่ภายใต้แผนกลยุทธ์ Building a Sustainable Future Through Digital Transformation เสริมประสิทธิภาพระบบไอทีและโครงสร้างการทำงานเชิงลึกระหว่างคนกับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อรวมให้เติบโต
“โดยคาดว่าปี 2568 ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตประมาณ 4-5% และหากในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง บริษัทเชื่อว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้” พิทยาย้ำ