“การทำ Digital Transformation ไม่ใช่แค่การซื้อเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในองค์กร แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมภายในที่เปิดกว้างให้บุคลากรสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” พิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว
ในช่วงปลายปี 2567 เคทีซีประกาศแผนธุรกิจที่จะมุ่งหน้าพาองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมลูกค้าและเทรนด์แรงงานคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป และนั่นทำให้เคทีซีเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจ
“ถ้าเราอยากจะยืนอยู่ในธุรกิจนี้หรือธุรกิจไหนก็ตาม เทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต และนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่เคทีซีนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาใช้อย่างจริงจัง” พิทยากล่าวเสริม
โดยหัวเรือใหญ่ผู้จะมากำหนดทิศทางธุรกิจของเคทีซีในด้านการเคลื่อนตัวไปสู่ธุรกิจดิจิทัลก็คือ วิไลวรรณ นพรัตน์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยมีบทบาทกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนงานต่างๆ ในองค์กร ซึ่งวิไลวรรณเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในสายงานไอทีของเคทีซี โดยก่อนหน้านี้คร่ำหวอดอยู่ในวงการโทรคมนาคมมามากกว่า 20 ปี
วิไลวรรณเผยว่า “เคทีซีวางโรดแมปด้านไอทีสำหรับปี 2568-2569 ในการยกระดับศักยภาพบุคลากรและระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะเรื่องของระบบ Core Payment Platform ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้รวดเร็ว ปลอดภัย และเสถียร ที่จะเป็นกุญแจสำคัญกับการเติบโตของเคทีซีในอนาคต”
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เรื่องสำคัญที่เคทีซีต้องการจะทำควบคู่กับการลงทุนเทคโนโลยี นั่นคือ
1. Citizen Developers: สร้างบุคลากรให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
การทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญคือศักยภาพของคนในองค์กรที่ต้องมีความรู้ความสามารถด้านไอที ไม่เพียงจำกัดแค่บุคลากรไอทีเท่านั้น โดยการสร้าง Citizen Developers ให้บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงระบบงาน จะใช้เครื่องมือ Low-Code เพื่อช่วยบุคลากรปรับปรุงการทำงานโดยไม่ต้องอาศัยทักษะการเขียนโค้ด พร้อมทั้งสนับสนุนการเรียนรู้ให้บุคลากรมีทักษะพร้อมสำหรับการรับมือสิ่งใหม่ๆ
2. Fusion Team: รวมทีมงานเป็นหนึ่งเดียว
หนึ่งในกลยุทธ์ที่เคทีซีนำมาใช้ในการทำ Digital Transformation คือการสร้าง ‘Fusion Team’ ซึ่งเป็นทีมงานที่รวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสายงานมาทำงานร่วมกัน ลดการแบ่งแยกการทำงานในลักษณะ ‘งานใครงานมัน’ เพื่อปรับปรุงการทำงานภายในองค์กรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3. AI-Powered Technology: ยกระดับประสบการณ์สมาชิกด้วย AI
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ทั้งเปลี่ยนระบบสารสนเทศที่ใช้อยู่เดิม โดยเคทีซีนำ AI-Powered Solutions ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อทำงานต่างๆ เช่น วิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค คาดการณ์ผลลัพธ์ และโต้ตอบกับผู้ใช้งาน
โดยหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่น่าจะเห็นการใช้งานมากขึ้นทั่วโลกในปีนี้ก็คือการเริ่มเข้ามาของ Agentic AI ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้แบบไม่ต้องรอคำสั่งทีละขั้นตอน ซึ่งวิไลวรรณกล่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ว่า “เคทีซีกำลังศึกษาหาแนวทางการนำ Agentic AI มาใช้ โดยเฉพาะกับประเภทงานที่ต้องอาศัยการรับมืออย่างทันท่วงที เช่น กลลวงทางการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์การใช้งานที่ปลอดภัยที่สุด
“เราคาดว่าการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับโครงสร้างการทำงาน (Digital Transformation) ในครั้งนี้ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ รองรับการเติบโตของเคทีซีในอนาคต” พิทยากล่าวปิดท้าย