นักวิเคราะห์ประเมิน บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังจากที่ธนาคารออมสินเตรียมขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นนอนแบงก์ ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 5% ซึ่งในตลาดอยู่ที่ไม่เกิน 25% ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นมองว่าอาจจะมีผลต่อการปรับประมาณการกำไรงวดปี 2566 และอาจจะเสียมาร์เก็ตแชร์ในส่วนนี้
จากประเด็นที่ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ธนาคารออมสินเตรียมขอใบอนุญาตจาก ธปท. เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นนอนแบงก์ ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเหมือนธุรกิจการเงินอีกแห่งของธนาคารออมสิน โดยจะทำผ่านแอปพลิเคชันใหม่ เป็นสินเชื่อดิจิทัลทั้งหมด เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 5% ซึ่งในตลาดอยู่ที่ไม่เกิน 25% ต่อปี รวมทั้งต้องการปิดช่องกู้หนี้นอกระบบด้วย คาดจะยื่นขอใบอนุญาตจาก ธปท. ได้ต้นปี 2566 และสามารถเปิดบริการได้ครึ่งปีหลังปีเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกดดันหุ้นไฟแนนซ์ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก ได้แก่ KTC (33% ของสินเชื่อรวม) และ AEONTS (48.9% ของสินเชื่อรวม) เนื่องจากปัจจุบันคิดดอกเบี้ยที่ระดับ 23-24% หากธนาคารออมสินเข้ามาทำตลาดและตั้งเป้าจะให้บริการด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 5% ย่อมส่งผลให้ลูกค้าหันไปใช้บริการจากธนาคารออมสินที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าแทน
รวมถึงกดดันให้ KTC และ AEONTS อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยลงตามในอนาคต เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด คาดเห็นความชัดเจนของโครงสร้างธุรกิจใหม่ของธนาคารออมสินในช่วงตันปี 2566 และเริ่มดำเนินธุรกิจในไตรมาส 3/66 ส่งผลให้คาดจะเป็นแรงกดดันหลักสำหรับ KTC และ AEONTS
เบื้องต้น บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดผลกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2566 ของ KTC ประมาณ 6.90% จากประมาณการเดิมที่คาดจะมีกำไรสุทธิ 7,942 ล้านบาท และ AEONTS 8.1% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 4,887 ล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานที่บริษัทปรับลดดอกเบี้ยลงในไตรมาส 3/66) แต่จะเริ่มมีผลมากขึ้นในปี 2567 ที่รับรู้ผลกระทบเต็มปี
ขณะที่หุ้นไฟแนนซ์อื่นๆ ทั้ง SAWAD, MTC, TIDLOR และ AMANAH คาดไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและความเสี่ยงในการทำธุรกิจไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าของแผ่นธุรกิจของธนาคารออมสินว่าจะดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรรายใด และมีความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มลูกค้ารายได้น้อย/ปานกลางขนาดไหน ในระหว่างนี้แนะนำลงทุนในหุ้นไฟแนนซ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว และทำกำไรไตรมาส 3/65 โตดีจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตกว่าไตรมาส 2/65 แนะนำ SAWAD ประเมินราคาเป้าหมาย 64 บาท และ AMANAH ที่ราคาเป้าหมาย 6.20 บาท
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองว่า จากกรณีที่ธนาคารออมสินประกาศแผนธุรกิจในปี 2566 ด้วยการจะเข้าสู่สินเชื่อ Personal Loan โดยเปิดให้กู้สินเชื่อผ่านแอปชื่อ My Credit วงเงินปล่อยกู้ 10,000-30,000 บาทต่อคน และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.25% ต่อเดือน
ทั้งนี้ ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มการเงินที่ทำสินเชื่อ Personal Loan เช่น MTC, SAWAD, SAK, HENG, KTC และ AEONTS แต่จะไม่กระทบต่อ ASK, THANI และ TIDLOR เนื่องจากไม่ได้ประกอบธุรกิจ Personal Loan