เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (22 สิงหาคม 2565) บมจ.ธนาคารกรุงไทย ( KTB ) เผยเป้าหมายปี 2565 โดยปรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 3-4% สู่ 4-5% เพื่อสะท้อนการเติบโตของสินเชื่อ YTD ที่ 2.5% ใน 1H65 เป้าหมายดังกล่าวไม่รวมสินเชื่อเกี่ยวกับภาครัฐ ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารสภาพคล่อง
ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อใน 1H65 เกิดจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (เพิ่มขึ้น 3.9%YTD) และสินเชื่อรายย่อย (เพิ่มขึ้น 2.3%YTD) สินเชื่อ SMEs อยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่สินเชื่อเกี่ยวกับภาครัฐลดลง 8.1%YTD ทั้งนี้ SCBS ประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2565 ไว้ที่ 5%
ด้านการตั้งสำรองใน 2H65 KTB คาดว่าจะตั้งสำรองเพิ่มขึ้น HoH เพื่อรับมือปัจจัยกดดันเศรษฐกิจตามหลักความระมัดระวัง แต่จะไม่ตั้งสำรองเพิ่มมากนัก ส่วน SCBS ประมาณการ Credit Cost ปี 2565 ตามหลักความระมัดระวังไว้ที่ 1% เทียบกับ 0.85% ใน 1H65
KTB ตั้งเป้าคง LLR Coverage ไว้ที่ 160-170% ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับ 168% ณ 2Q65 ทั้งนี้ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อ SCBS เชื่อว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุด เนื่องจาก KTB มีเงินให้สินเชื่อแก่ภาครัฐ (19%) รวมถึงลูกจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและข้าราชการ (50% ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ 80% ของสินเชื่อส่วนบุคคล) ในสัดส่วนสูงที่สุด
ส่วนอัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) KTB คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น HoH ใน 2H65 และคงเป้า NIM ไว้ในระดับทรงตัวที่ 2.5% ในปี 2565 ทั้งนี้ ใน 2H65 ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้จะได้รับประโยชน์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สินทรัพย์ระหว่างธนาคารสุทธิของ KTB มีการปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยธนาคารคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 75 bps ใน 2H65 และปี 2566 ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ 1.25% ณ สิ้นปี 2565 และ 2% ณ สิ้นปี 2566
การมีสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ในสัดส่วนสูงถึง 85% ทำให้ KTB มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ KTB เพิ่งออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.25% เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิมูลค่า 2.0 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.4%
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียม KTB ตั้งเป้าในระดับทรงตัวถึงเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับต่ำในปี 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมใน 2H65 จะเพิ่มขึ้น HoH และ YoY
นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ คาดว่าจะไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด แม้ว่าจะมีโมเมนตัมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเริ่มจำหน่ายลอตเตอรี่ดิจิทัล SCBS ประมาณการการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมปี 2565 ไว้ที่ 1%
ส่วนอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ KTB คงเป้าอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ไว้ที่ Low-to-Mid 40% ในปี 2565 ลดลงเมื่อเทียบกับ 46.2% ในปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ SCBS ที่ 43.4% โดยธนาคารคาดว่าค่าใช้จ่ายพนักงานที่ลดลงจะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายด้าน IT ที่เพิ่มขึ้น
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น KTB ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.87% สู่ระดับ 16.10 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.06% สู่ระดับ 1,615.85 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
SCBS คาดว่ากำไร 2H65 จะเพิ่มขึ้น YoY (NII สูงขึ้น, ตั้งสำรองลดลง และ OPEX ลดลง) แต่จะลดลง HoH จากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2565 จะรายงานกำไรเติบโต 40% แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก Credit Cost ที่ลดลง การขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังที่ 5% NIM ในระดับทรงตัว Non-NII ที่เติบโตเล็กน้อย และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง
สำหรับปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่ต้องติดตามคือ
- NPL เพิ่มขึ้น หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะสิ้นสุดในปี 2565 ซึ่งคาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ในปี 2565
- การสิ้นสุดการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จาก 0.46% สู่ 0.23% ที่จะสิ้นสุดตอนปลายปี 2566 SCBS เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อชดเชยการปรับเพิ่มอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP