ผยง ศรีวณิชและบริการทางการเงินอื่นๆ แต่จะมาช่วยอุดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินในไทย พร้อมชู 4 กลยุทธ์แกร่งสู้คู่แข่งรายอื่น
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยเกี่ยวกับกลยุทธ์และความคืบหน้าของกระบวนการขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการ ‘ธนาคารไร้สาขา’ (Virtual Bank) โดยระบุว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างปรับแก้คำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะสามารถยื่นเอกสารได้ก่อนปิดรับสมัครในวันที่ 19 กันยายน 2567 แน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘สารัชถ์’ หวังขยายธุรกิจ Virtual Bank ผ่านฐานลูกค้ากรุงไทยและเอไอเอส เผยดอกเบี้ยไม่สูงเท่ากับที่มีกระแสข่าว
- เปิด 7 คุณสมบัติที่แบงก์ชาติมองหาในผู้สมัครขอไลเซนส์ Virtual Bank พร้อมสรุปไทม์ไลน์ คนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?
- คลังคลอดเกณฑ์ Virtual Bank แล้ว! เปิดทางตั้งได้ไม่จำกัดจำนวน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจขอใบอนุญาตวันแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 และจะปิดรับสมัครในวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยกำหนดประกาศผลผู้ได้ใบอนุญาตในเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนเริ่มเปิดดำเนินการได้จริงในเดือนมิถุนายน 2569
ในระหว่างการแถลงข่าว CEO Vision : Business Strategy 2024 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ผยงได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการสู้ศึก Virtual Bank ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง KTB, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ AIS โดย THE STANDARD WEALTH แบ่งออกได้เป็น 4 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
- เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แก้ช่องว่างทางสังคมในระบบเศรษฐกิจไทย
ผยงกล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. อยากเห็น (Green Line) คือการให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs กลุ่ม Unserved และ Underserved
เราจึงต้องตีความนี้ให้แตกเพื่อให้ได้ใบอนุญาต ซึ่งกรุงไทยก็เห็นโอกาสด้านนี้ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็น 48.4% ของ GDP ขณะที่แรงงานในระบบ 51% ก็อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบนี้
โดยเฉพาะจำนวน SMEs ในไทยก็มีเพียง 26% ที่จดทะเบียนธุรกิจ สะท้อนว่าอีก 74% ที่เหลืออาจจะต้องขอสินเชื่ออื่นๆ มาทำกิจการ หรือไม่สามารถใช้เงินทุนที่อยู่ในระบบได้อย่างเต็มที่ เช่น อาจจะต้องทำสินเชื่อบัตรเครดิตมาทำธุรกิจ หรือนำบ้านไปจำนองเพื่อขอสินเชื่อ
“เราต้องคิดให้ครบ ไม่ใช่วาทกรรมที่พูดแล้วตื่นเต้นเร้าใจ เพราะเขาไม่ได้ให้แข่งกับผู้เล่นรายเดิม แต่ให้เข้าถึง Underserved ถ้าไม่ตอบโจทย์ เขาก็ไม่ให้ใบอนุญาต จึงต้องตีโจทย์ให้ออก” ผยงกล่าว
- ระบบ IT ที่มีเสถียรภาพสูง
ผยงกล่าวว่า เนื่องจากข้อกำหนดของ Virtual Bank คือการทำธุรกิจแบบไร้สาขา ดังนั้นเสถียรภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จึงสำคัญมาก โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงระดับพันล้านถึงหมื่นล้าน
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF ที่เคยระบุว่า “การแข่งขันในธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ที่ทำระบบได้มีเสถียรภาพ และเปิดให้คนเข้าถึงได้มากที่สุดและเข้าถึงได้ตลอดเวลา”
- ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ที่วิเคราะห์ลูกค้าได้จริง
ผยงกล่าวอีกว่า ข้อมูลแบบดั้งเดิมในการวิเคราะห์สินเชื่ออาจจะไม่พอ ดังนั้น Virtual Bank จึงต้องเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ไปจนถึงการมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์และสามารถอธิบายพฤติกรรมของผู้ขอกู้ได้อย่างมีคุณภาพ ได้จริง และเป็นรูปธรรม
- มีพันธมิตรที่ช่วยกันอุดช่องว่างได้
ผยงกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสู้ศึกครั้งนี้คือพันธมิตรมาเติมเต็มในส่วนที่กรุงไทยไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงช่องว่างในระบบเศรษฐกิจได้ และตอบโจทย์ช่องว่างระบบเศรษฐกิจไทย
โดยพันธมิตรของกรุงไทยสามารถเข้าฐานราก ร้านค้า และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า โดยมีข้อมูลที่สามารถบอกพฤติกรรมของลูกค้าได้ เช่น หลังจากเลิกงานแล้วไปทำอะไรต่อ กลับบ้าน หรือไปเรียนพิเศษ
“Virtual Bank เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือช่องว่างทางสังคมในไทยได้” ผยงกล่าว