เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (2 กันยายน) บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยแนวโน้มธุรกิจ 2H63 โดยระบุว่าทิศทางของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจาก NPL ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง รวมถึง KTB มีสัดส่วนสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือเพียง 18% ของสินเชื่อทั้งหมด (เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ระดับ 31%) ซึ่งสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือนี้มีเพียง 4% ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก, 26% มีแนวโน้มปรับโครงสร้างหนี้ และ 70% มีแนวโน้มที่จะกลับมาชำระได้ตามปกติ จึงทำให้ KTB ไม่คิดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดไว้ว่า NPL ตลอดทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 1.2% เทียบกับ 1Q63 ที่ 1.6% และ 2Q63 ที่ 2% (รวมการตั้งสำรองจาก บมจ.การบินไทย (THAI) แล้ว)
ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) มีแนวโน้มปรับตัวลงจากสัดส่วนเงินกู้ภาครัฐที่สูงขึ้น ขณะที่ยอดสินเชื่อยังคงมีแนวโน้มที่เติบโต ซึ่งมาจากการขยายตัวของสินเชื่อภาครัฐ
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (3 กันยายน) ราคาหุ้น KTB ปรับตัวลงเล็กน้อย 0.52%DoD สู่ระดับ 9.55 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการ 2H63 ของ KTB จะยังคงอ่อนแอลงจากการตั้งสำรองจำนวนมากเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ที่สูงขึ้น สำหรับ NIM ยังคงมีแนวโน้มที่แคบลง HoH จากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านการเติบโตของสินเชื่อจะยังไม่น่าตื่นเต้นมากนัก เพราะการเติบโตส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อภาครัฐ สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลได้หรือไม่ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เตรียมส่งแผนเงินกองทุนภายใต้การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ช่วงกลางเดือนตุลาคม รวมถึงทิศทาง NPL ของระบบธนาคารโดยรวมที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการระยะยาวของ KTB นั้น SCBS คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2565 เนื่องจากการตั้งสำรองเริ่มลดลง และจะฟื้นตัวตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2566 เนื่องจากการตั้งสำรองจะลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ข้อมูลเพิ่มเติม:
DoD% คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า
HoH คือการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์