วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นัดหารือครั้งแรก กับ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทองกล่าวว่า ประเด็นสำคัญในวันนี้ เป็นการหารือเรื่องการเปิดสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ต่ออายุสัญญา 30 ปี จนถึงปี 2585 ซึ่งเรื่องนี้ต้องแจ้งให้ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทราบก่อน เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดย BTSC ได้ฝากข้อสังเกตไปยัง กทม. ถึงแนวทางการเปิดเผยสัญญาการเดินรถอย่างเท่าเทียมกัน ในธุรกิจการเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคดีความที่ยังคงค้างอยู่ในศาลปกครอง จากกรณี BTSC ฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ซึ่งทาง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ BTSC จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาฝั่งละชุด เพื่อพิจารณารายละเอียดหนี้สินอย่างรอบด้าน โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับคดีความที่อยู่ในชั้นศาลปกครอง ซึ่งหากตกลงกันได้ มีการชำระหนี้สินก่อนที่คดีจะสิ้นสุด ก็อาจจะมีการพิจารณาถอนฟ้องให้คดียุติ
ส่วนบางเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในสัญญาการเดินรถ เช่น ค่าโฆษณาที่ติดประชาสัมพันธ์อยู่ข้างรถไฟฟ้า เรื่องนี้อาจจะมีการพิจารณาทบทวนร่วมกัน เนื่องจากเป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามา
ขณะเดียวกัน เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ หากมีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงถึงสัญญา ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความชัดเจนตามกลไกในปัจจุบันมากขึ้น
ศาสตราจารย์พิเศษธงทองกล่าวต่อไปว่า การต่อสัญญาสัมปทานที่ยาวไปถึงปี 2585 มาถึงวันนี้ล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว อาจจะมีการรื้อสัญญาขึ้นมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ซึ่งทาง BTSC เห็นพ้องให้มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
และเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว จะต้องมีการวางแผนร่วมกัน โดย กทม. จะต้องเป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมาก่อน จากนั้นทาง BTSC จะเป็นผู้วางระบบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยจะใช้เวลาล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ
ด้านสุรพงษ์กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้คุยกับคู่สัญญา กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ร่วมกันมากว่า 10 ปี ซึ่งทางชุดทำงานได้มีการบอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ และปัญหาที่ผ่านมา
ยืนยันว่าในส่วนของบริษัทไม่ได้มีปัญหาในการเปิดเผยข้อมูล แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพราะรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครมีหลายสาย มีการแข่งขัน หากรถไฟฟ้าสายสีอื่นเปิดเผยข้อมูลอย่างไร ทางบริษัทก็จะเปิดเผยข้อมูลในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ มีการชี้แจงไปตามตรงว่า ในส่วนของหนี้คงค้างทางบริษัทเองที่เป็นเอกชนก็ทำการกู้ยืมมาเช่นกัน จึงอยากให้ช่วยเร่งรัดติดตามหาทางออกในเรื่องนี้