×

กรุงเทพธนาคม แจงศาลปกครอง สัญญาจ้าง ‘BTS’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
16.01.2023
  • LOADING...
กรุงเทพธนาคม BTS

วันนี้ (16 มกราคม) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แจ้งว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปให้ทาง BTS เร็วๆ นี้ ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง 

 

สำหรับการยื่นคำให้การครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่บริษัทฯ ได้นำเรียนให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงในการจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

 

  1. สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับ BTS นั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

 

  1. บริษัทฯ ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 มกราคม 2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

  1. สัญญาจ้างที่บริษัทฯ กระทำกับ BTS เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ บริษัทฯ ไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้

 

  1. การที่บริษัทฯ ไปทำสัญญาว่าจ้าง BTS ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

 

  1. การฟ้องคดีของ BTS ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะ BTS ทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่ BTS ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

 

ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ว่าบีทีเอสจะฟ้องคดีใหม่มาอีก จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกโครงการกว่า 30 ปี ตลอดจนข้อกฎหมายที่รอบด้านกว่าคดีแรกอย่างมีนัยสำคัญ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising