ค่าเงินบาทเช้านี้ (16 กุมภาพันธ์) เปิดที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ ในเดือนมกราคมขยายตัว +3.0% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาด หนุนให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.8 จุด (ในระหว่างวันแตะจุดสูงสุดเหนือระดับ 104 จุด ก่อนย่อตัวลงมาบ้าง) ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันไม่ให้เงินดอลลาร์แข็งค่าไปได้ไกลนัก ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่รอทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (Sell on Rally)
ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเมษายน) ย่อตัวลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้ามาซื้ออยู่บ้าง ซึ่งโฟลวธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างเช่นกัน
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ในวันนี้ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและว่างงานต่อเนื่อง (Initial Jobless Claims & Continuing Jobless Claims) โดยมองว่า ธีมของตลาดอาจยังเป็น ‘Very Good Economic Data = Bad News for the Market’ หรือหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้ตลาดกังวลว่า Fed ยังไม่มีเหตุผลที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายๆ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ อย่างที่ตลาดการเงินโดยเฉพาะในฝั่งตลาดค่าเงินและตลาดบอนด์เผชิญมาโดยตลอดในสัปดาห์นี้
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB และ Fed หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของทั้งฝั่งยูโรโซนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ต่างออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาทจนเกือบแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา นั้นมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในช่วงราคาย่อตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ นอกจากนี้ฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติยังเป็นฝั่งขายสุทธิ (ยกเว้นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ)
ทั้งนี้ ประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ ท่ามกลางธีม ‘แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย Fed ยังไม่จบง่ายๆ’ แต่ ‘การขึ้นดอกเบี้ยของไทยอาจใกล้จบแล้ว’ นอกจากนี้การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาท ทำให้ในเชิงเทคนิคค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อจนทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ผู้เล่นในตลาดที่ปรับสถานะมาเป็นฝั่ง Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อาจรอจังหวะขายทำกำไรแถว 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทำให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้มีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้มาก
โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 34.15-34.50 บาทต่อดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68