สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ประเมินว่า การเริ่มปรับลดมาตรการกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ รวมถึงการพิจารณาถอนคันเร่งนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตามสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มดีขึ้น จะส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากนักลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่และไทยผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางตราสารหนี้เป็นหลัก
ทั้งนี้ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนมีแรงจูงใจในการเทขายตราสารหนี้เดิม ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยกลับยังต้องการสภาพคล่องผ่านการคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่จึงมีมากขึ้น
จากการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า หาก Fed ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 100 bps จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นราว 60 bps และจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 39 bps เมื่อมองไปในอนาคต ภายใต้สมมติฐานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวมาอยู่ที่ 2.5% (ตามการคาดการณ์ผ่าน Dot Plot ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน) จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ และไทย ปรับขึ้นราว 1.5 และ 0.98% ตามลำดับ
วิจัยกรุงศรียังพบด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีจะมีผลต่อต้นทุนการระดมทุนและจำกัดการลงทุนภาคเอกชนของไทย โดยใช้เวลาส่งผ่านผลกระทบราว 5 ไตรมาส และระดับการลงทุนที่ลดลงส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป จากการประเมินผลกระทบผ่านแบบจำลอง VAR แสดงให้เห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยปรับลดลง 3.2%
เมื่อพิจารณาต่อเนื่องถึงผลกระทบของการลงทุนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการทำ Impulse Response พบว่า การลงทุนที่ลดลงนั้นส่งผ่านในทุกช่องทางในองค์ประกอบของ GDP ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลง การผลิตถูกจำกัด เกิดการชะลอตัวของการจ้างงานซึ่งจำกัดความสามารถในการบริโภค จนทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบทางลบวนไปมา หรือเกิด Negative Feedback Loop โดยในภาพรวมนั้นการลงทุนที่หายไปจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวหายไปกว่า 0.4%
วิจัยกรุงศรีเสนอแนะว่า ในช่วงเวลาที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ดำเนินนโยบายของไทยจะปรับใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมหรือพิจารณาเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยอาจแบ่งเป็นออกเป็น 3 กลุ่มนโยบาย ได้แก่
1. นโยบายที่ทำได้ทันทีและเห็นผลทันที ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ซึ่งมีความโดดเด่นในการส่งผ่านความช่วยเหลืออย่างตรงจุดไปยังภาคธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจสามารถนำความช่วยเหลือที่ได้รับไปต่อยอดได้ทันที ก่อให้เกิดผลบวกต่อเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น อีกทั้งมาตรการนี้มีแนวโน้มใช้วงเงินมากกว่าการดำเนินนโยบายการเงินอื่นๆ ในภาวะปกติ แต่อาจไม่ได้สูงมากเกินไปจนกระทบเสถียรภาพของธนาคารกลาง
2. นโยบายที่ทำได้ทันทีแต่เห็นผลในระยะยาว ได้แก่ การดึงดูดให้ผ่านเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนมากขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปโครงสร้างภาษีหรือกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดโดยอาศัยการเป็นสมาชิกในข้อตกลงการค้า อัตราภาษีพิเศษ รวมถึงการกระจายองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
3. นโยบายที่ไทยยังไม่มีความพร้อมแต่ควรพิจารณานำมาใช้ในระยะข้างหน้า (Unconventional Monetary Policy) เช่น การเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลาง (Asset Purchase Program: APP) และการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ระดับหนึ่ง หรือ Yield Curve Control (YCC) ซึ่งในปีที่ผ่านมาประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศเริ่มมีการปรับใช้นโยบายเหล่านี้มากขึ้น เช่น เม็กซิโก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
โดยการทำนโยบายการเงินลักษณะนี้อาจมีต้นทุนในการปรับใช้ที่สูง ทั้งในด้านจำนวนเงินและเสถียรภาพของธนาคารกลางในระยะยาว แต่อย่างน้อยจะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยซึมยาวและยังรักษาระดับศักยภาพการเติบโตไว้ได้ ซึ่งอาจเป็นการยอมแลกที่คุ้มค่า