สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมวันที่ 29 กันยายนนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ -0.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.45% โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ลดลงค่อนข้างมาก สอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอลงในช่วงการแพร่ระบาดที่รุนแรง
ขณะเดียวกันภาครัฐยังมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ โดยการลดค่าน้ำประปา ค่าไฟ และค่าธรรมเนียมการศึกษา ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้ยังขยายตัวแต่มีอัตราที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.07% ชะลอลงจาก 0.14% เดือนกรกฎาคม
วิจัยกรุงศรีระบุว่า ผลจากการระบาดที่รุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมได้ฉุดอุปสงค์ในประเทศให้อ่อนแอลงมาก ประกอบกับทางการขยายเวลาการใช้มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.73% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้
โดยล่าสุดวิจัยกรุงศรีได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เหลือ 0.9% จากเดิมคาด 1.2% อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้บ้าง ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด รวมถึงราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิม และผลการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่ามีความน่าจะเป็นอยู่ที่ 52.7% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 29 กันยายนนี้ แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% จากปัจจัยหนุน ได้แก่
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางสาขากลับมาดำเนินการได้บ้างแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากที่เคยแตะระดับกว่า 20,000 รายต่อวัน ประกอบกับการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า (เฉลี่ยวันละกว่า 6 แสนโดสในช่วงวันที่ 1-9 กันยายน) และทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดลง
- ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธปท. ได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ทั้งการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ และการสนับสนุนให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวที่เหมาะสมกับลูกหนี้ โดยมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการเน้นใช้มาตรการทางการเงินที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และอาจช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ไม่มาก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP