×

‘วิจัยกรุงศรี’ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยเป็น 1.2% ในปีนี้ และ 3.7% ในปีหน้า มองการลงทุนเป็นพระเอกตัวที่สอง ช่วยภาคส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

24.11.2021
  • LOADING...
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 1.2% ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 1.5%QoQ หรือ +0.8%YoY จากปัจจัยหนุนเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนที่เร่งขึ้น  

 

ผนวกกับยังมีแรงส่งจากมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมเพิ่มขึ้นจาก 1.5 แสนคน เป็น 3.5 แสนคน

 

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและการผ่อนคลายลงของภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคยังส่งผลให้การส่งออกเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 16.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 15%

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 วิจัยกรุงศรีประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3% และมีแนวโน้มที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปีจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ 

 

ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้น โดยเติบโตได้ราว 3.6% จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน ซึ่งคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มรายได้ และทุกสาขา จะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

 

“เราประเมินว่าค่าจ้างของแรงงานในปีหน้าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นราว 5% แต่จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด 2.9% เป็นการฟื้นตัวแบบ Uneven โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 3.5 หมื่นบาทจะฟื้นตัวได้เร็วสุดและไม่น่ากังวล แต่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.4 หมื่นบาทต่อเดือน รายได้จะยังน้อยอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือของภาครัฐจะต้องโฟกัสมาที่กลุ่มนี้เป็นหลัก” สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว

 

สำหรับภาคส่งออก ประเมินว่าแม้จะขยายตัวได้ลดลงจากในปีนี้ แต่คาดว่าจะยังเติบโตได้ 5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.9% ตามแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น กอปรกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป 

 

โดยผลการศึกษาของ ADB ประเมินว่า RCEP จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ภายในปี 2573 ซึ่งแม้เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่สูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน   

 

ในด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นจาก 4% ในปีนี้เป็น 4.6%ในปีหน้า จากอานิสงส์การฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) และการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 2562

 

นอกจากนี้ การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 2565-2569)

 

“เรามองว่าการลงทุนจะเข้ามาเป็นพระเอกตัวที่สองของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เพราะการลงทุนที่ขยายตัวได้ที่ระดับ 4-5% สองปีติดต่อกันถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับไทยที่การลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาติดลบ โดยการลงทุนจะช่วยหนุน GDP ได้ค่อนข้างมากจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลบวกต่อเนื่องทางเศรษฐกิจไปจนถึงปี 2566-2567” สมประวิณกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 60 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังมีข้อจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยยังมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ 

 

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2568 ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่า คือในปี 2567 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising