×

‘ศูนย์วิจัยกรุงศรี’ ประเมิน GDP ปีหน้าโต 3.3% ห่วงการเมืองฉุดรั้งเศรษฐกิจราว 1%

25.11.2020
  • LOADING...
‘ศูนย์วิจัยกรุงศรี’ ประเมิน GDP ปีหน้าโต 3.3% ห่วงการเมืองฉุดรั้งเศรษฐกิจราว 1%

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวที่ 3.3% โดยตัวเลขเศรษฐกิจหลายส่วนจะพลิกกลับเป็นบวกหลังปี 2563 ส่วน GDP ปี 2563 คาดว่าจะติดลบราว 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า ปี 2563 จะติดลบ 10.3%)

 

ทั้งนี้ มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 สาเหตุเพราะเครื่องยนต์ต่างๆ ยังไม่กลับสู่ระดับเดิม เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 4 ล้านคน ต่ำกว่าปี 2562 ที่อยู่ราว 40 ล้านคน โดยปีหน้ามองว่าความกังวลการแพร่ระบาด การควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศจะยาวนานกว่าที่คาด เพราะการระบาดระลอก 2 และ 3 ในประเทศสำคัญทั่วโลก

 

ขณะที่มองว่าเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจปีหน้าคือ การส่งออก ที่ปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 4.5% พลิกเป็นบวกจากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 7.5% (ก่อนหน้าคาดว่าจะติดลบ 12.5%) โดยมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน และสัญญาณการฟื้นตัวตามประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการส่งออกโลกปี 2564 จะโต 7.2% ซึ่งต้องจับตามองความร่วมมือ RCEP ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างไทยและอาเซียน

 

อย่างไรก็ตามปี 2564 คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโต 2.5% จากกำลังการใช้จ่ายหลักของเศรษฐกิจอย่างกลุ่มผู้มีรายได้สูง ด้านการลงทุนเอกชนขยายตัว 3.2% โดยเฉพาะการลงทุนของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนี่องกับการส่งออก และการลงทุนรัฐเติบโต 10.5% หลังภาครัฐพยายามเร่งการเบิกจ่ายผ่านแผนการตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ

 

“เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ดังนั้นจะกระทบทั้งธุรกิจ การจ้างงาน และรายได้ ดังนั้นมาตรการรัฐเพื่อกระตุ้นการจ้างงานและรายได้ เพื่อเพิ่มการใช้จ่าย โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ต้องยอมรับว่าการใช้จ่ายเกือบทุกหมวดสินค้ายังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19” สมประวิณกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และคาดว่านโยบายการเงินของไทยยังเป็นไปแบบผ่อนคลาย โดยมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น  

 

สมประวิณกล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับประมาณการ GDP นี้ รวมผลจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบันแล้ว โดยมองว่าสถานการณ์ยังอยู่ในระดับกลาง และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เบื้องต้นประเมินว่าปัจจัยการเมืองส่งผลกระทบต่อ GDP ราว 0.6-1%” 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X