×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

วิจัยกรุงศรี แนะรัฐทยอยคลายล็อกดาวน์เป็น 4 ระยะ จนถึง ม.ค. ปีหน้า ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

27.09.2021
  • LOADING...
วิจัยกรุงศรี

สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ได้จัดทำแบบจำลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย โดยพบว่าการใช้หน้ากากอนามัย การนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน และมาตรการห้ามการรวมกลุ่ม เป็นมาตรการที่ช่วยลดการระบาดได้ดีที่สุด ขณะที่มาตรการปิดสถานที่ทำงาน มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ และการบังคับให้อยู่บ้าน เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากที่สุด 

 

วิจัยกรุงศรียังประเมินว่า อัตราการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ค่อนข้างสูงในขณะนี้ อาจทำให้วัคซีนไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้ในอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่าการระบาดของโควิดจะคงอยู่ต่อไปในรูปแบบของโรคประจำถิ่น (Endemic) 

 

ภายใต้บริบทดังกล่าว ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันที่ทยอยลดลงต่อเนื่อง การหาจุดที่เหมาะสมของการใช้มาตรการที่เข้มงวดและการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ โดยมาตรการที่มีความสามารถในการควบคุมการระบาดน้อยแต่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจสูง ควรเป็นมาตรการที่ถูกยกเลิกก่อน ได้แก่ มาตรการบังคับให้อยู่บ้าน การปิดสถานที่ทำงาน และการปิดขนส่งสาธารณะ 

 

โดยผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรีบ่งชี้ว่า การคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสมควรแบ่งออกเป็น 4 ช่วง นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรก ดังนี้

 

ช่วงที่ 1 (เดือนกันยายนถึงกลางตุลาคม 2564)

  • มาตรการที่คลายความเข้มงวดแล้วหรือสามารถคลายความเข้มงวดได้ในช่วงนี้: ลดความเข้มงวดของมาตรการปิดโรงเรียน มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม และมาตรการปิดขนส่งสาธารณะ
  • เงื่อนไขที่เหมาะสม:
    • จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงจากระดับสูงสุด
    • มีประชากรมากกว่า 40% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม
  • ตัวอย่าง
    • การเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้านได้
    • การเปิดกิจการบางอย่างที่มีผู้ใช้บริการต่อครั้งน้อย เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด เป็นต้น
    • การเปิดเรียนบางระดับชั้น
    • การเปิดการขนส่งสาธารณะบางประเภท เช่น รถไฟ รถทัวร์ เป็นต้น

 

ช่วงที่ 2 (กลางเดือนตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน 2564)

  • มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการปิดสถานที่ทำงาน และข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน
  • เงื่อนไขที่เหมาะสม:
    • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 10,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 150 คน
    • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 1 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า 0.8
    • สถานที่ทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับการให้พนักงานเข้าทำงาน ได้แก่

                   – การเตรียมสถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น มีระบบระบายอากาศ มีการเว้นระยะ

                   – มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเกิน 80% สำหรับพนักงานที่จะเข้าไปทำงาน                           

                   – การจัดการระบบการตรวจโควิดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งระบบเตือนและจัดการหากมีผู้ติดเชื้อ

  • ตัวอย่าง
    • เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 100 คน (จาก 50 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น เช่น ให้คนสามารถเข้าร้านอาหาร สนามกีฬาที่เปิดโล่ง สวนธารณะได้มากขึ้น
    • เปิดให้สถานที่ทำงานสามารถเปิดได้ แม้ว่ายังคงคำแนะนำทำงานที่บ้าน (Work from Home) ต่อไป
    • การยกเลิกข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน แต่ยังคงคำแนะนำลดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่แออัดหรือสถานที่ปิด

 

ช่วงที่ 3 (กลางเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564)

  • มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการปิดโรงเรียน มาตรการยกเลิกการจัดกิจกรรมสาธารณะ มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
  • เงื่อนไขที่เหมาะสม:
    • มีประชากรทั้งหมด 65% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 35% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 80%
    • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 2 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 0.8
    • ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรง หรือเกิดคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสองขั้นตอนแรก
  • ตัวอย่าง
    • อนุญาตให้เปิดสถานศึกษาได้ แต่ยังคงคำแนะนำเรียนที่บ้านต่อไป
    • อนุญาตให้จัดกิจกรรมสาธารณะได้ภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะกิจกรรมในสถานที่ปิด เช่น โรงหนัง การจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น
    • เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้โดยไม่จำกัดจำนวน (จาก 100 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น
    • ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด
    • ยกเลิกการห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงเดินทางเข้าประเทศ แต่ยังคงมาตรการ Quarantine อย่างเข้มงวด

 

ช่วงที่ 4 (เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป)

  • มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด มาตรการการฉีดวัคซีน การบังคับใส่หน้ากาก
  • เงื่อนไขที่เหมาะสม:
    • มีประชากรทั้งหมด 70% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 50% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 85%
    • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 3 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 1 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 50 คน
    • ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรง หรือเกิดกลุ่มการระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสามขั้นตอนแรก
  • ตัวอย่าง
    • กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาเปิดได้ตามปกติ แต่ยังคงข้อกำหนดและคำแนะนำบางอย่าง เช่น ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมควรฉีดวัคซีนเกิน 80% ปฏิบัติตามคำแนะนำด้าน Social Distancing เป็นต้น
    • การเดินทางระหว่างประเทศยังคงจำกัด และยังคงใช้มาตรการ Quarantine ต่อไป
    • มาตรการดูแลสุขภาพ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การตรวจโควิด และการให้ข่าวสาร เป็นต้น ยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะสำหรับสถานที่ปิดและมีคนแออัด เนื่องจากยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดได้อีก

 

ทั้งนี้ การคำนวณหาความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นของวิจัยกรุงศรี พบว่าการทยอยคลายล็อกดาวน์ตามโมเดลข้างต้นจะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ โดย ณ ช่วงสิ้นปี ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ราว 40% เมื่อเทียบกับความสูญเสียในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม ขณะที่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะที่โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเหลือเพียง 18% เมื่อเทียบกับความสูญเสียในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม

 

ดังนั้น การเข้าสู่ช่วงสุดท้าย หรือช่วงที่โควิดกลายมาเป็น Endemic ได้เร็ว ยิ่งช่วยจำกัดการสูญเสียทั้งในแง่ของสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าแม้ประเทศไทยดำเนินขั้นตอนการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ยังคงสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจาก Pandemic เป็น Endemic ซึ่งหากไทยสามารถย่นระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะยิ่งน้อยลง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising