พัทธ์หทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของโควิดที่รุนแรง โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในไตรมาสแรกของปี 2564 ปรับลดลง -2.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายและการขอสินเชื่อมากขึ้น นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ผู้บริโภคในปัจจุบันยังเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลและออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าที่อายุ 23-40 ปี มากถึงเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกัน
สำหรับภาพรวมธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ 13,100 ล้านบาท เติบโต 5% โดยหมวดที่มียอดใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ประกันภัย
- ช้อปปิ้งออนไลน์
- ตกแต่งบ้าน
- น้ำมัน
- ซูเปอร์มาร์เก็ต
ขณะที่ยอดสินเชื่อผ่อนชำระของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 8,000 ล้านบาท เติบโต 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าที่ลูกค้านิยมผ่อนชำระ เรียงลำดับตามอัตราเติบโต ได้แก่
- ผ่อนสินค้าผ่านช้อปปิ้งออนไลน์แพลตฟอร์ม (+80%)
- ผ่อนทองคำรูปพรรณ (+30%)
3. ผ่อนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+30%) - ผ่อนประกัน (+10%)
- ผ่อนสินค้าตกแต่งบ้าน (+6%)
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่บริษัทคาดว่าสภาวะตลาดโดยรวมน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมากระเตื้องขึ้นในราวไตรมาสที่ 4 โดยบริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายโดยรวมเอาไว้ที่ 75,000 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 4% แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 45,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 30,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2564
พัทธ์หทัยระบุว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เน้นเติบโตภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ มุ่งสู่ดิจิทัล, ร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับกลยุทธ์แรก ‘มุ่งสู่ดิจิทัล’ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้า เช่น บริการ U Card สมัครบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน UChoose โดยยอดสมัครบัตรใหม่ผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีการล็อกดาวน์ และบริการ U Cash โอนวงเงินบัตรเครดิตเข้าบัญชีออมทรัพย์หรือพร้อมเพย์เพื่อใช้เป็นเงินสด โดยยอดกดเงินสดผ่านช่องทาง U Cash ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เติบโตถึง 25% หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
กลยุทธ์ต่อมา ‘ร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ’ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์จะให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรที่ออกบัตรเครดิตร่วมกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือโฮมโปร รวมถึงพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำและร้านค้าอีกกว่า 25,000 ราย เสนอโปรโมชันต่างๆ เช่น ส่วนลดและเครดิตเงินคืน รวมถึงบริการผ่อนชำระสินค้าที่มีแผนผ่อนชำระให้เลือกหลากหลาย พร้อมออกแคมเปญให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า เป็นการแบ่งจ่าย 0% นาน 3 เดือน หรือแผนผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ นานสูงสุดถึง 24 เดือน
กลยุทธ์สุดท้าย ‘ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ที่ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยจนถึงปัจจุบันกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 900,000 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างประมาณ 35,000 ล้านบาท และมียอด NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้รวมอยู่ที่ 2.6%