×

‘วิจัยกรุงศรี’ ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิด สู่มาตรการเศรษฐกิจไทย เสนอเยียวยา ‘6 ข้อ’ วงเงิน 7 แสนล้านบาท ประคองจ้างงาน 7.4 ล้านตำแหน่ง

09.08.2021
  • LOADING...
วิจัยกรุงศรี

การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มีนาคม 2564) อยู่ที่ 1.8% (สิงหาคม 2564)    

 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง  

 

จากวิกฤตโควิดที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ 

 

วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดในประเทศต่างๆ พบว่า 

  • มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว 
  • มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน 
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ 
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน 
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ 
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน 

 

ทั้งหมดนี้เป็น ‘6 มาตรการ’ ที่มีความสำคัญ และนโยบายที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ    

 

มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้านเพื่อควบคุมการระบาด

 

มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย

 

มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ

 

มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น

 

มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี

 

มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ                                                                                                                                                                                                                           

 

มาตรการทั้งหมดนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจจากโควิดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

 

โดยระยะสั้น คาดว่าจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะเลิกกิจการใน 6 เดือนข้างหน้าได้มากถึง 169,175 ราย จาก 221,658 รายที่ได้รับผลกระทบ และช่วยรักษาการจ้างงานได้ถึง 7.4 ล้านตำแหน่ง จากแรงงาน 9.3 ล้านคนที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน ซึ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้ถึง 2.75 ล้านครัวเรือน จาก 3.89 ล้านครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

                                                                                  

ส่วนระยะยาว การระบาดของโควิดทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 3.5% ก่อนการระบาดของโควิด เหลือ 3.0% จากการออกจากกิจการของธุรกิจ สินทรัพย์ที่ด้อยค่า และประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

อ่านบทวิจัยฉบับเต็มได้ที่: ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิดสู่มาตรการเศรษฐกิจไทย (krungsri.com)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising