โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก-นำเข้า ท่องเที่ยว ลามมาถึงคนในประเทศจำนวนมาก ล่าสุดยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ภาคธุรกิจยังต้องออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อพยุงคนและองค์กร กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ต้องรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยอมรับ พิษโควิด-19 ทำธุรกิจบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลของปี 2563 หดตัว
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยข้อมูลจากกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่าไตรมาส 1 ของปี 2563 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเหลือ 94,000 ล้านบาท หดตัว 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ประเมินว่าช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะติดลบ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลจะหดตัว 30% ส่วนหนึ่งเพราะยอดการใช้จ่ายวันที่ 1-10 เมษายนที่ผ่านมาติดลบ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากทั้งหมดนี้คาดว่าปี 2563 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรี จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 10% จะหดตัว 35-50%
“ตั้งแต่มีวิกฤตโควิด-19 ยอดการใช้จ่ายหดตัวจนติดลบ โดยเฉพาะหมวดการใช้จ่ายหลักๆ ที่ติดลบ โดยไตรมาส 1 ปีนี้ สายการบินหดตัว 50% โรงแรมหดตัว 80% โรงภาพยนตร์หดตัวเกือบ 100% ห้างสรรพสินค้าหดตัว 60 ร้านอาหารหดตัว 70% ทำให้ไตรมาส 3 ปีนี้ ภาพรวมยอดการใช้จ่ายจะติดลบ 30% ส่วนไตรมาส 4 แม้ว่าอาจจะกลับมาเปิดธุรกิจแล้ว แต่น่าจะไม่ดีขึ้นมากนัก เพราะหมวดสายการบินและท่องเที่ยวยังไม่กลับมา”
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มยอดการใช้จ่ายที่เติบโต ได้แก่ กลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายยา, ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงพยาบาล
ออก 3 มาตรการพิเศษช่วยเหลือลูกค้า ย้ำถ้าไม่มีมาตรการช่วย หนี้เสียอาจพุ่งแตะ 3%
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เกิดความร่วมมือตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มโครงการ ‘เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์’ โดยออก 3 มาตรการพิเศษ ได้แก่
- มาตรการที่ 1 ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน
- บัตรเครดิต จากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
- ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
- มาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 2 รอบบัญชีให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนง สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ถึง 12 มิถุนายน 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง
- มาตรการที่ 3 ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนงผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี
- บัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน
- สินเชื่อส่วนบุคคล อัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 22% และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%
นอกจากนี้ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ
ขณะเดียวกันในช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่าหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันหนี้เสียบัตรเครดิตของกรุงศรีอยู่ที่ 1.6-1.7% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ 1.05% ขณะที่หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ 2.5%
“หากเราไม่ทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้า หนี้เสียของบัตรเครดิตอาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3% ขณะที่หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลอาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6%”
2 เดือนนี้เตรียมกระแสเงินสด 40,000 ล้านบาท เผยมาตรการช่วยลูกค้าทำรายได้หาย 30%
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนหลังจากนี้ทางบริษัทเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเตรียมกระแสเงินสดราว 40,000 ล้านบาทสำหรับกรณีที่แย่ที่สุด หากลูกค้าทั้งหมดไม่ชำระหนี้ (อาจจ่ายขั้นต่ำ) ซึ่งปกติแล้วจะมียอดการชำระเงินราว 30,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันคาดว่ากลุ่มคนชำระเต็มจำนวนจะยังคงสัดส่วนเดิมที่ราว 35-40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงคาดว่าจะมีลูกค้าที่ชำระเงินตามปกติอยู่
โดยปัจจุบันฐานลูกค้ารวมของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ 8 ล้านบัญชี คิดเป็น 6 ล้านคน โดยมาตรการที่ 1 และ 2 ปรับให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติ ส่วนมาตรการที่ 3 (ลดอัตราดอกเบี้ย) คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการราว 8 แสนถึง 1.2 ล้านคน ในวงเงินสินเชื่อราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยของบริษัทอาจลดลงราว 30% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีการผ่อนผันให้ลูกค้า
ทั้งนี้มองว่าปี 2563 ภาพรวมธุรกิจยังไม่กลับมาเติบโต แต่มองว่าตลาดจะหดตัวแรง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มคนตกงานจำนวนมาก กระทบทั้งส่วนลูกค้าเดิมและการสมัครใหม่ กลุ่มนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาอาจสมัครบัตรเครดิตไม่ได้หากไม่มีงานทำ
“หลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะตลาดจะหดลงจากกลุ่มแรงงานหรือกลุ่มคนจบใหม่ที่อาจชะลอการใช้จ่าย ทำให้เรื่องฐานบัตรใหม่จะยังไม่เห็นการเติบโตไปถึงปี 2564 แต่หวังให้ธุรกิจกลับมาเติบโตได้ในต้นปี 2564”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์