วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกเซกเตอร์ ไม่เว้นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ทิศทางของตลาดบัตรหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ตลาดสินเชื่อบัตร 8 เดือนแรก ปี 2563 ติดลบ 12% ไม่มีใครไม่ลบ
ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 และล็อกดาวน์ในไทย ส่งผลกระทบต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและธุรกิจบัตรสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า 8 เดือนแรก ปี 2563 ทั้งตลาดติดลบ 12% ต้องยอมรับว่าทั้งตลาดได้รับผลกระทบกันหมด
ทั้งนี้ไตรมาส 3/63 พบว่า แม้จะผ่านหลังโควิด-19 แต่ธุรกิจยังได้รับผลกระทบในหลายด้าน โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์อยู่ที่ 196,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 58,000 ล้านบาท และสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท ยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ไตรมาส 4/63 มองว่าภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรจะปรับตัวดีขึ้น 25% จากไตรมาส 3/63 และถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะติดลบราว 7-8% ถือว่ายังได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ
หวังไตรมาส 4/63 มาตรการรัฐช่วยกระตุ้นบริโภคได้
ส่วนหนึ่งที่ประเมินว่าธุรกิจบัตรในไตรมาส 4/63 จะปรับตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของกลุ่มที่ยังมีกำลังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะหมวดที่ยังเติบโต เช่น ประกันภัย และซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ ผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้า และหมวดการบริโภคต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น
“เราเห็นหลัง 23 ตุลาคม ที่เริ่มมาตรการของรัฐ ในช่วง 3 วันแรก ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มถึง 40% แต่หลังจากนั้นก็ทยอยเติบโตลดลงมา แต่ยังมีแรงใช้จ่ายอยู่ ทำให้ภาพยอดใช้จ่ายผ่านบัตรไตรมาส 4/63 เลยยังมีส่วนที่ขยายตัว” ณญาณีกล่าว
ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ใน ปี 2563 ยังจะติดลบเมื่อเทียบกับปี 2562 ได้แก่ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 280,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตจะติดลบ 11% และ Ploan จะติดลบ 13-15% โดยมองว่าหลังจากนี้กลุ่มลูกค้า Ploan จะระมัดระวังมากขึ้นในการขอกู้ ทำให้ตัวเลขติดลบมากกว่า ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 144,000 ล้านบาท ติดลบ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โจทย์ใหญ่หลังโควิด-19 ลูกค้าสมัครบัตรใหม่ปี 2563 หดตัว 44%
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยต่อคนยังไม่แตกต่างจากเดิม แต่จำนวนคนที่ใช้จ่ายกลับลดลง เพราะระมัดระวังมากขึ้น จนถึงไตรมาส 3/63 ยังเห็นยอดเริ่มกลับมา ดังนั้นในสถานการณ์หนี้เสียยังมีความไม่แน่นอน ทางบริษัทยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ คาดว่าจำนวนลูกค้าสมัครใหม่จะอยู่ที่ 500,000 ใบ ลดลง 44% จากปีก่อน
ทั้งนี้ การเข้าถึงลูกค้าบัตรใหม่ จะมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการใช้จ่ายและชำระหนี้ โดยจะเปิดช่องทางในการสมัครบัตรเครดิตใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปรับใช้ข้อมูล นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีพาร์ตเนอร์กับ Grab ที่จะให้สินเชื่อกับผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์ม
ด้านดิจิทัล ทางกรุงศรี คอนซูมเมอร์ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านแอปพลิเคชัน UChoose ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 5.3 ล้านบัญชี จากฐานลูกค้าทั้งหมดที่มีอยู่ 8-9 ล้านบัญชี
“บัตรเครดิตหลายบัตรของเรา ยังมีกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แต่เฟิร์สช้อยส์อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะเป็นกลุ่มฐานรากที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น และยังเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง” ณญาณีกล่าว
จับตาหนี้เสียบัตร เผยยอดจริงไตรมาส 1/64
สถานการณ์หนี้เสีย (NPL) ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีหนี้เสียไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 2.25% เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ (ช่วงก่อนโควิด-19) ที่ 2.14% ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 2.25% ไปจนถึงสิ้นปี 2563
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต มี NPL อยู่ที่ 1.51% (คาดว่าจะคงระดับนี้ถึงสิ้นปี) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ระดับ 1.37% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) อยู่ที่ 3.02% (คาดว่าจะคงระดับนี้ถึงสิ้นปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ 2.9%
“คาดว่าหนี้เสียจะทรงตัวที่ระดับนี้ไปจนถึงปลายปี เพราะยังมีเรื่องไม่สบายใจ และคาดว่าจะเห็นชัดเจน ในช่วงไตรมาส 1/64 ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังต้องจับตามองใกล้ชิด” ณญาณีกล่าว
นอกจากนี้ ปัจจุบันลูกค้ากรุงศรี คอนซูมเมอร์ที่มีใช้มาตรการพักชำระหนี้อยู่ราว 1 ล้านคน โดยมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการรีไฟแนนซ์ (การช่วยยืดการผ่อนชำระ) ต่อเนื่อง 93,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านบาท
โดยสถานการณ์หนี้ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หากลูกค้ายังไม่สามารถชำระหนี้ได้ และต้องการความช่วยเหลือ จะสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 จนถึงปี 2564 โดยจะให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สูงสุด 96 เดือน (8 ปี) ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ราว 48 เดือน ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการ TDR จำนวน 32,400 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 2.5 พันล้านบาท
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล