สำนักวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเกือบ 1% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.7% เหลือ 2.8% ตามความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของทั้งสงครามและการคว่ำบาตร โดยวิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยออกเป็น 3 ฉากทัศน์
- การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022 (กรณีดี)
ภายใต้ฉากทัศน์นี้รัสเซียจะถอนกำลังจากยูเครน แต่ยังสามารถครองอิทธิพลในเขตดอนบาสได้ ทำให้ชาติตะวันตกยังคงมาตรการคว่ำบาตรจนถึงสิ้นปี 2022 ส่วนการค้าสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ราคาน้ำมันพุ่งสูงในไตรมาสแรกของปี 2022 แล้วค่อยๆ ลดลง
ในกรณีนี้วิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ 3.3%, การส่งออกจะขยายตัวได้ 4%, การบริโภคและใช้จ่ายของภาคเอกชนจะเติบโต 3.5%, การลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 3.9%, การลงทุนภาครัฐเติบโต 3.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวจาก 2.7% เป็น 4.1%
- การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น (กรณีฐาน มีความเป็นไปได้มากที่สุด)
ภายใต้สมมติฐานนี้การรบจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงกลางปี ทำให้ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การอายัดทรัพย์สินของคนรัสเซีย, ลดการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย, ตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT รวมทั้งลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เป็นต้น รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การค้าขายสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ จึงไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในยุโรป แต่ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงตลอดครึ่งปีแรก โดยทั้งปีราคาน้ำมันดิบเบรนต์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 105.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ในกรณีนี้คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ 2.8%, การส่งออกจะขยายตัวได้ 2.6%, การบริโภคและใช้จ่ายของภาคเอกชนจะเติบโต 3%, การลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 3.3%, การลงทุนภาครัฐเติบโต 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8%
- การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยุโรป (กรณีเลวร้าย)
ภายใต้ฉากทัศน์นี้รัสเซียจะยุติการส่งออกพลังงานไปยุโรป ทำให้น้ำมันดิบหายไป 2.5-3 ล้านบาร์เรล จนเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานในยุโรป และราคาพลังงานพุ่งสูงทั่วโลก โดยราคาน้ำมันมีโอกาสแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรก ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตทั่วโลกและทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
ในกรณีนี้คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.3%, การส่งออกจะขยายตัวได้ 1.2%, การบริโภคและใช้จ่ายของภาคเอกชนจะเติบโต 1.6%, การลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 2%, การลงทุนภาครัฐเติบโต 2.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 6%
บทวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรียังระบุอีกว่า การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ลดลงในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะลดลงจาก 7.5 ล้านคน เหลือ 5.5 ล้านคนในกรณีฐาน จะทำให้ไทยต้องประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้
นอกจากนี้วิจัยกรุงศรียังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบางขึ้นจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับแรก โดยมีโอกาสสูงที่ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปี
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP