×

‘กรุงไทย’ วางเป้าสินเชื่อปีหน้าโต 3% เน้นรักษาคุณภาพลูกหนี้เดิม มั่นใจหนี้เสียเพิ่มแค่เล็กน้อย

โดย THE STANDARD TEAM
01.12.2020
  • LOADING...
‘กรุงไทย’ วางเป้าสินเชื่อปีหน้าโต 3% เน้นรักษาคุณภาพลูกหนี้เดิม มั่นใจหนี้เสียเพิ่มแค่เล็กน้อย

ธนาคารพาณิชย์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนผ่านผลดำเนินงานและราคาหุ้นที่ปรับลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในปีหน้ายังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทายสูงในการดำเนินธุรกิจ 

 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าแผนดำเนินงานในปีหน้าจะยังไม่เน้นการเติบโตของสินเชื่อใหม่มากนัก เบื้องต้นตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 2-3% ใกล้เคียงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

“ปีหน้าแผนเราคงไม่ได้เน้นการเติบโตที่มากมาย อาจโตในระดับ 2-3% เราจะเน้นดูแลสินเชื่อเก่าให้ดีและรอด”

 

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ของ KTB ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าไม่ได้สูงนัก โดยมีหนี้ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือในเฟสแรกเพียง 3.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของสินเชื่อรวมที่ระดับ 1.8 ล้านล้านบาท ถือว่าน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่อยู่ระดับ 30-40%

 

ผยงกล่าวว่าหลังหมดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ธนาคารใช้วิธีเข้าไปดูแลปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ มีบางส่วนที่ยังต้องให้การช่วยเหลือต่อไป แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าหนี้ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) จะมีไม่ถึง 20% ของมูลหนี้ที่ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

 

ส่วนสาเหตุที่ KTB มีระดับหนี้ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือไม่มากนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ เพราะที่ผ่านมา KTB ไม่ได้เน้นการปล่อยสินเชื่อที่เชื่อมโยงไปสู่ซัพพลายเชนต่างๆ เหมือนธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ดังนั้นเมื่อธุรกิจดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นมา ผลกระทบจึงไม่ได้เป็นลูกโซ่

 

“แบงก์อื่นๆ เขาเน้นปล่อยกู้แบบเป็นยวงลงไปถึงซัพพลายเชนต่างๆ เช่น ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มโรงแรมหนึ่ง ก็จะขยายไปสู่พนักงานลูกจ้าง รวมไปถึงซัพพลายเชนของโรงแรมนั้นๆ ด้วย พออุตสาหกรรมเกิดปัญหาขึ้น พอร์ตสินเชื่อเขาจึงมีปัญหาตามไปด้วย แต่ของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น”

 

ผยงบอกด้วยว่า มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอีกหลายด้านที่อาจกระทบต่อคุณภาพหนี้ แม้ว่าวันนี้ภาพรวมของลูกหนี้จะผ่านมรสุมร้ายไปบ้างแล้ว แต่การเติบโตของเศรษฐกิจยังต้องติดตาม เพราะกว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 20% 

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะข้างหน้าจะเผชิญกับ ‘บิ๊กดิสรัปชัน’ หลังได้รับอนุมัติภาษีรถยนต์ EV ลงมาอยู่ที่ 0% ซึ่งทั้งการท่องเที่ยวรวมกับภาคการผลิตรถยนต์มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 30% ของ GDP ดังนั้นเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายอีกมากที่ต้องติดตาม

 

ส่วนประเด็นการตีความสถานะ KTB พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ผยงกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ KTB แต่อย่างใด เพราะ KTB วางตัวเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐมาโดยตลอด และถึงแม้ KTB ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่ยังเป็นหน่วยงานของรัฐ ถือหุ้นใหญ่ใน KTB อยู่ การปฏิบัติงานต่างๆ จึงเหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม

 

อย่างไรก็ตาม การพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมีเพียงเรื่องเดียวที่จะเปลี่ยนคือเรื่องการรักษาพยาบาล หากเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. งบประมาณ ไม่จำเป็นต้องเข้า พ.ร.บ. ประกันสังคม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะโดยปกติแล้ว KTB ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงาน ดังนั้นเราสามารถแก้ระเบียบภายใน ก็สามารถปรับให้การรักษาพยาบาลของพนักงานยังคงมีสิทธิ์เช่นเดิมได้ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายบริหารได้หารือกับสหภาพแรงงานแล้ว ไม่มีข้อติดขัดใดๆ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising