×

‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเป็นครูบา ไขคำตอบจากคนศึกษางานครูบา

28.02.2023
  • LOADING...
ครูบา

HIGHLIGHTS

3 min read
  • กระแสท้องถิ่นนิยม ล้านนานิยม ทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นศูนย์กลางในทุกๆ อย่างของการเป็นครูบา หากเราพูดถึงคำว่า ‘ครูบา’ ภาพแรกที่จะผุดขึ้นมาในหัวก็คือภาพของครูบาศรีวิชัยนั่นเอง
  • การที่คำว่า ‘ครูบา’ กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของพระเกจิ ผู้มีวิทยาอาคม ก็เกิดขึ้นจากการผลิตสร้าง ผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยให้กลายเป็นผู้วิเศษ เป็นตนบุญ เป็นผู้มากบารมี ตามเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยด้วยเช่นกัน 
  • สิ่งสำคัญของการเป็นครูบาในปัจจุบัน จึงเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์ สร้างเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอสิ่งเหล่านี้สื่อสารออกมาเพื่อให้ชาวพุทธหรือคนทั่วไปได้รับรู้ และเข้าใจกันว่า ‘นี่คือครูบา’ ‘นี่คือผู้ไร้มลทิน’ ‘นี่คือผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘นี่คือผู้มีบารมี’ ที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา 

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวงการพระสงฆ์มีเรื่องราวเป็นข่าวเป็นคราวกันว่อนโลกโซเชียล โดยเฉพาะกระแส ‘ครูบา’ ต่างๆ ไม่ว่าจะครูบาทางอีสานที่เป็นที่ฮือฮา ไม่ว่าจะครูบาทางเชียงใหม่ เชียงราย ล้านนาที่เป็นข่าว ต้องยอมรับเลยว่าของเขาแรงจริงๆ จนถึงล่าสุดรู้สึกว่าจะยังมีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ ใครหลายคนที่ได้เสพข่าว ทั้งที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ผ่านข่าว ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็คงมีความรู้สึกอยากรู้เรื่องราว เบื้องลึกเบื้องหลังกันอยู่พอสมควร

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตในการแสดงความคิดเห็นในข่าวหลายๆ สำนัก ทุกสำนักจะมีหลายความเห็นที่ถามซ้ำๆ เหมือนๆ กันหลายครั้งว่า ‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเรียก ‘ครูบา’ เอาเป็นว่าวันนี้ผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาเกี่ยวกับ ‘ครูบา’ และเป็นติ่งครูบามาตั้งแต่เด็กๆ จะขอเล่าที่ไปที่มาของคำว่าครูบาให้ทุกท่านได้เข้าใจกันว่า คำว่าครูบาหมายความว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไร แตกต่างกันอย่างไรระหว่างครูบาอีสาน และครูบาล้านนา แล้วทำไมพระวัยรุ่นในปัจจุบันถึงอยากเป็นครูบากันนัก วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปด้วยกัน

 

ครูบาคือใคร

 

คำว่า ‘ครูบา’ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่มักจะได้ยินมาจากทางภาคเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักคำว่า ‘ครูบา’ จาก ‘ครูบาศรีวิชัย’ ซึ่งท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นตนบุญแห่งล้านนา หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักจากครูบาดังๆ หลายๆ รูปไม่ว่าจะ ครูบาบุญชุ่ม (ถ้ำหลวง) หรือ ครูบาอริยชาติ 

 

เริ่มต้นทางจากภาคเหนือก่อน จริงๆ คำว่า ‘ครูบา’ ของภาคเหนือหรือพื้นที่วัฒนธรรมล้านนา ในอดีตมีความหมายมาจากคำว่า ‘คุรุ’ บวกกับคำว่า ‘อุปัชฌาย์’ หมายถึงพระที่มีความรู้ไม่ว่าจะทั้งปริยัติและปฏิบัติ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นอุปัชฌายาจารย์ของเหล่าพระสงฆ์ สามเณร เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพระที่เป็นเกจิอาจารย์ หรือผู้ที่มีวิทยาอาคมใดๆ พูดง่ายๆ คือ ครูบาไม่เท่ากับผู้วิเศษ เป็นเพียงพระสงฆ์ผู้มีความรู้ และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน เขาจึงเรียกพระสงฆ์รูปนั้นด้วยความเคารพว่า ‘ครูบา’

 

ปราชญ์ในท้องถิ่นภาคเหนือ และนักวิชาการทางด้านล้านนาศึกษาหลายท่าน พยายามให้นิยามคำว่า ‘ครูบา’ ว่าต้องเป็นพระสงฆ์ผู้ที่มีอายุพรรษามากพอ ถึงจะเหมาะสมที่จะได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า ‘ครูบา’ เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี หรือมีอายุพรรษาไม่ต่ำกว่า 20 พรรษา แต่อย่างไรก็ตามหากนับเอาตามหลักเกณฑ์นี้ 

 

นั่นหมายความว่าครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนาก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่ควรจะได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า ‘ครูบา’ ด้วยหรือไม่ เพราะหากนับดูตามอายุของท่านแล้ว ครูบาศรีวิชัยเกิดในปี 2421 และมรณภาพในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 นั่นเท่ากับว่าครูบาศรีวิชัยมีอายุเพียง 60 ปี และมีพรรษาในปีที่ท่านมรณภาพ 20 ปีพอดิบพอดี

 

แต่ด้วยความศรัทธาอย่างล้นหลามต่อตัวครูบาศรีวิชัยในปัจจุบัน ปราชญ์และนักวิชาการท้องถิ่นล้านนาในปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง ก็พยายามจะตีความความหมายใหม่เพื่อให้ความชอบธรรมว่า ครูบาศรีวิชัยควรค่าแก่การได้รับการยกย่องด้วยคำว่า ‘ครูบา’ เพราะท่านถือว่าเป็นพระสงฆ์ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในแง่ปริยัติและปฏิบัติ สร้างประโยชน์ต่อพุทธศาสนาล้านนา และดินแดนล้านนา โดยเฉพาะเรื่องของการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมาก ครูบาศรีวิชัยจึงควรค่าแก่การได้รับการยกย่องด้วยคำนำหน้าชื่อว่า ‘ครูบา’ พูดง่ายๆ คือเกณฑ์นี้มีข้อยกเว้นไว้ให้เฉพาะครูบาศรีวิชัยเพียงรูปเดียวเท่านั้น 

 

ส่วนคำว่า ‘ครูบา’ ในภาคอีสานนั้น กลับมีความหมายที่แตกต่างไปจากคำว่า ‘ครูบา’ ในภาคเหนือ ในภาคอีสาน ‘ครูบา’ หมายถึงพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ที่มีอายุพรรษาไม่เกิน 10 พรรษา และที่สำคัญไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงพระสงฆ์เท่านั้น คำว่า 

‘ครูบา’ ในภาคอีสานสามารถนำไปกับฆราวาสทั่วไปได้ด้วย หากบุคคลนั้นมีความรู้ความสามารถไม่ว่าจะในด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม 

 

ทำไมต้องอยากเป็นครูบา 

 

ทีนี้คำถามที่ตามมาก็คือว่า แล้วทำไม ‘ครูบา’ ในปัจจุบัน ถึงมีอายุพรรษาไม่มาก และรู้สึกว่า ‘ครูบา’ ส่วนใหญ่นั้นดูจะมีลักษณะของการเป็นเกจิอาจารย์ เป็นผู้มีฌานสมาบัติ เป็นผู้มีวิทยาอาคม ไม่เพียงเท่านั้น แลดูจะมีจำนวนมากขึ้นทุกวันๆ ด้วย

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530 เกิดปรากฏการณ์สำคัญทางศาสนาในภาคเหนือ คือการเกิดขึ้นของกระแส ‘ครูบาคติใหม่’ หรือหลายคนที่รู้สึกไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไรก็มักจะเรียกว่า ‘ครูบาอุ๊กแก๊ส’ ซึ่งหมายถึงการบ่มให้สุกก่อนเวลาอันสมควร 

 

ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเลยคือ มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งในภาคเหนือพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย ไม่ว่าจะการนุ่งห่มจีวรสีกรักแดง กรักน้ำตาล นุ่งห่มแบบรัดอก ห้อยลูกประคำ ใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบลานบ้าง หรือหางนกยูงบ้าง นำเสนอเรื่องราวของตนเองให้ผูกโยงกับเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับครูบาศรีวิชัย เช่น ถือวัตรปฏิบัติแบบครูบาศรีวิชัย เป็นพระนักสร้าง นักพัฒนา ก่อสร้างวัดวาอารามใหญ่โตอลังการบ้าง เป็นครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิดบ้าง หรือมีลักษณะเป็นตนบุญเหมือนครูบาศรีวิชัยบ้าง ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ในภาคเหนือ 

 

คำถามต่อมาก็คือว่า ‘ทำไม’ ถึงต้องเป็นครูบาศรีวิชัย เหตุผลสำคัญก็คือ ในช่วงเวลาทศวรรษเดียวกันนั้น ก็เกิดอีกกระแสหนึ่งในท้องถิ่นภาคเหนือ คือกระแสท้องถิ่นนิยม ล้านนานิยม มีความพยายามจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สร้างวีรบุรุษท้องถิ่นในทางประวัติศาสตร์ขึ้น และบุคคลที่ได้รับการเชิญชูขึ้นเป็นวีรบุรุษท้องถิ่นก็คือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกยกย่องให้กลายมาเป็น ‘ตนบุญแห่งล้านนา’ เพียงผู้เดียว

 

ดังนั้นภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยจึงถูกนำเสนอ ถูกตอกย้ำ ถูกผลิตสร้าง ถูกผลิตซ้ำ จนกลายเป็นการรับรู้ เป็นความเข้าใจหลักของสังคม และของคนในภาคเหนือ ภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยจึงกลายมาเป็นความหมายของคำว่า ‘ครูบา’ กลายมาเป็นภาพลักษณ์ ‘ต้นแบบ’ ของการเป็นครูบา และกลายมาเป็น ‘มาตรฐาน’ ความถูกต้องของการเป็นครูบา

 

พูดง่ายๆ คือกระแสท้องถิ่นนิยม ล้านนานิยม ทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นศูนย์กลางในทุกๆ อย่างของการเป็นครูบา หากเราพูดถึงคำว่า ‘ครูบา’ ภาพแรกที่จะผุดขึ้นมาในหัวก็คือภาพของครูบาศรีวิชัยนั่นเอง

 

เมื่อครูบาเท่ากับภาพลักษณ์เกจิ

 

คำถามสุดท้าย แล้วทำไมครูบาถึงกลายมาเป็นพระเกจิ ผู้มีวิทยาอาคม ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายเดิม และทำไมใครๆ ถึงอยากเป็นครูบา

 

การที่คำว่า ‘ครูบา’ กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของพระเกจิ ผู้มีวิทยาอาคม ก็เกิดขึ้นจากการผลิตสร้าง ผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยให้กลายเป็นผู้วิเศษ เป็นตนบุญ เป็นผู้มากบารมี ตามเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องเล่าที่ว่า ครูบาศรีวิชัยเดินกลางสายฝนแต่กลับไม่เปียกฝน ครูบาศรีวิชัยเดินเหนือจากพื้นดินได้ ครูบาศรีวิชัยเกิดในวันฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว เชื่อกันว่าเป็นลักษณะของการลงมาเกิดของผู้มีบุญ เรื่องเล่าเหล่านี้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในการนำเสนอภาพลักษณ์ให้กับครูบาศรีวิชัย จนทำให้ท่านกลายเป็นพระสงฆ์ที่ไม่ธรรมดา กลายมาเป็น ‘พระผู้วิเศษ’ ไปด้วย

 

และการเป็นเกจิอาจารย์ ผู้มีวิทยาอาคมนี้เอง เป็นที่มาของชื่อเสียง แหล่งทุนและปัจจัยจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะทั้งจากการบริจาค การทำบุญ หรือการค้าวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ดังนั้นนี่คือคำตอบที่ว่าทำไมใครๆ ถึงอยากจะเป็นครูบา และทำไมถึงมีจำนวนมากขึ้นทุกวันๆ ไม่ว่าจะทั้งทางภาคเหนือหรือภาคอีสาน

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเป็นครูบาในปัจจุบัน จึงเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์ สร้างเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอสิ่งเหล่านี้สื่อสารออกมาเพื่อให้ชาวพุทธหรือคนทั่วไปได้รับรู้ และเข้าใจกันว่า ‘นี่คือครูบา’ ‘นี่คือผู้ไร้มลทิน’ ‘นี่คือผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘นี่คือผู้มีบารมี’ ที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา 

 

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่า เราไม่ควรไปหลงเชื่อกราบไหว้บูชาครูบาหรือพระเกจิอาจารย์ หรือแม้แต่จะบอกว่าการจะเป็นครูบา การนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นครูบาของพระสงฆ์ในปัจจุบันเป็นเรื่องไม่ดี อย่าเพิ่งเข้าใจผิดเช่นนั้น เพราะทั้งหมดคือสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาของทุกคน ใครอยากไหว้อะไรไหว้ ใครอยากกราบอะไรกราบ หรือใครไม่อยากเชื่อก็ไม่ต้องเชื่อ และเราควรเคารพสิทธิและเสรีภาพทางความเชื่อของกันและกัน

 

อ้างอิง: 

  • ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว, ครูบาคติใหม่ แต่งองค์ทรงเครื่องพุทธศาสนายุคกึ่งพุทธกาล, กรุงเทพฯ: มติชน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising