×

พลิกประวัติศาสตร์ ‘อมตะวาจาครูบาศรีวิชัย’ กับการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

24.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ครูบาศรีวิชัยกับคณะราษฎรมีความเกี่ยวโยงกันอย่างน่าศึกษา ทั้งในฐานะประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์ความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อประชาชนและการก่อรูปของประเทศไทย ในห้วงที่การอภิวัฒน์สยามเพิ่งก่อการ
  • อมตะวาจาของครูบาศรีวิชัยอาจดูเป็นเรื่องเร้นลับหรือต้องพิสูจน์ แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า มีผู้สมาทานความเชื่อดังกล่าว และเลือกที่จะเดินตามศรัทธา จนเกิดเป็นพลังที่ผู้มีอำนาจต้องเข้ามาควบคุม

ว่าด้วยอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัย

หากกล่าวถึงอมตะวาจา ‘ครูบาศรีวิชัย’ หลายคนมักเคยได้ยินเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า ครูบาศรีวิชัยได้กล่าวอมตะวาจาไว้ด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจเมื่อครั้งที่ท่านถูกอธิกรณ์เมื่อ พ.ศ. 2478 ว่า “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ จะไม่ขอไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่”

 

ผู้เขียนซึ่งเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมตะวาจานี้มาเช่นกัน โดยได้ยินมา 2 เรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน 

 

เรื่องแรกคือ การสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ที่เล่ากันว่า อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งสร้างเสร็จแล้วได้ไปรับรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยจากกรุงเทพฯ มาเพื่อประดิษฐานที่เชิงดอยสุเทพ แต่ไม่สามารถนำลงจากรถได้ และหลายคนเชื่อกันว่า สงสัยเป็นเพราะอาถรรพ์ของอมตะวาจานี้ จนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนภูมิพลที่จังหวักตาก ทำให้น้ำไหลขึ้นท่วมขึ้นทางเหนือเมื่อ พ.ศ. 2507 จึงสามารถอันเชิญรูปเหมือนกลับมาประดิษฐานที่เชิงดอยสุเทพได้จนถึงทุกวันนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ คนภาคเหนือเชื่อว่า ท่านคือครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิด เพราะท่านมาเกิดใน พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นปีหลังจากการสร้างเขื่อนภูมิพล คนจึงเชื่อกันว่า ขวัญ (ความเชื่อเรื่อง 32 ขวัญของคนล้านนา) ของครูบาศรีวิชัยได้กลับมาอยู่ที่เชียงใหม่อีกครั้ง และได้มาเกิดเป็นตัวท่านเอง ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นไปตามตำนานอมตะวาจาที่เล่าขานกัน

 

ณ เวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าคำกล่าวอมตะวาจานี้ของครูบาศรีวิชัยได้กล่าวออกมาจริงๆ หรือเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันมาของคนในท้องถิ่นเชียงใหม่และลำพูนเพียงเท่านั้น แม้กระทั่ง อาจารย์เพ็ญสุภา สุขคตะ ซึ่งได้เขียนบทความลงคอลัมน์ประจำใน มติชนรายสัปดาห์ เรื่อง เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาครูบาเจ้าศรีวิชัย “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่” ก็ไม่ทราบที่มาของตัวคำกล่าวนั้นเช่นกันว่า ครูบาศรีวิชัยได้กล่าวคำพูดนี้ออกมาจริงหรือไม่ ได้กล่าวมาเมื่อไร และ ได้กล่าวกับใคร

 

 

ร่องรอยประวัติศาสตร์ของอมตะวาจาครูบาศรีวิชัย

แต่เมื่อได้พยายามค้นหาเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ได้พบว่า มีการบันทึกคำกล่าวนั้นไว้ โดยบันทึกดังกล่าวเป็นบันทึกของหลวงศรีประกาศ ซึ่งท่านเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดครูบาศรีวิชัย และเป็นผู้ริเริ่มชักชวนครูบาศรีวิชัยในการนำมวลชนสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ

 

หลวงศรีประกาศได้บันทึกไว้ในเอกสารที่ชื่อว่า ประวัติถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยได้บันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งเมื่อครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์โดยรัฐบาลคณะราษฎรใน พ.ศ. 2478 และขณะที่ท่านถูกนำมากักตัวอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรในปีเดียวกันนั้น หลวงศรีประกาศได้บันทึกว่า ได้เข้าพบครูบาศรีวิชัยอยู่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยได้กล่าวกับหลวงศรีประกาศเนื้อความว่า 

 

“…ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่า ที่ถูกมากักเช่นนี้อาจเป็นเพราะผิดประเพณีก็ได้ การทำถนนไม่ใช่กิจของพระ ส่วนการสร้างเจดีย์วิหารอันเกี่ยวกับวัดมากมาย ก็ไม่เคยมีเรื่อง ถ้าได้กลับไป จะไม่เข้าไปในเขตเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป จนกว่าน้ำในลำแม่ปิงจะไหลขึ้นเหนือ…”  

 

ไม่เพียงเท่านั้น หลวงศรีประกาศยังได้บันทึกไว้อีกว่า “…เวลากลับไป ท่านก็ไม่ยอมเข้าเขตเชียงใหม่ แม้ศรัทธาจะนิมนต์เท่าไร ก็ไม่ยอมไปตลอดจนถึงมรณภาพ…”

 

จากเนื้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ครูบาศรีวิชัยมีความขุ่นเคืองในเรื่องที่ท่านถูกอธิกรณ์ จนต้องถูกนำตัวมากักไว้ที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน และถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ที่ท่านเกิดข้อพิพาทกับพระสงฆ์ภายใต้อำนาจของคณะสงฆ์ไทยและกับรัฐไทยเอง 

 

 

ต้องอธิกรณ์กับที่มาของอมตะวาจา

กล่าวคือ ก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ศ. 2464 ครูบาศรีวิชัยเคยถูกอธิกรณ์ครั้งหนึ่ง และถูกนำตัวลงมากักเพื่อปรับทัศนคติครั้งหนึ่งแล้วเช่นกัน โดยถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่องต่อคำสั่งเจ้าคณะแขวง ซ่องสุมผู้คนตั้งตนเป็นผีบุญ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้าน ด้วยการเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานา ไม่ยอมเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชสมบัติ เป็นต้น หลังจากพ้นข้อกล่าวหาครั้งแรกนั้น ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับความนิยมจากผู้คนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเริ่มกระบวนการบูรณะก่อสร้างฟื้นฟูศาสนสถานจำนวนมากในภาคเหนือกว่า 70 แห่ง

 

จนกระทั่งมาถึงงานสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานยิ่งสำคัญและน่าจะยิ่งใหญ่ที่สุดของครูบาศรีวิชัย ขณะที่มีการก่อสร้างนั้น ยิ่งทำให้มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในตัวครูบาศรีวิชัย ได้นำลูกหลานมาฝากบรรพชาและอุปสมบทกับท่านจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังมีพระสงฆ์จำนวนมากในเชียงใหม่กว่า 50 วัด 10 แขวง ขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ ไปขอขึ้นอยู่ในการปกครองของครูบาศรีวิชัย เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุลุกลามไปทั่วหัวเมือง รวมวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือที่ขอแยกตัวออกไปจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นกับการปกครองของครูบาศรีวิชัยมากกว่า 90 วัด และในระหว่างที่มีพระสงฆ์ขอขึ้นตรงต่อการปกครองของครูบาศรีวิชัยนั้น ครูบาศรีวิชัยได้ออกหนังสือสุทธิของคณะตนเองออกมาด้วย จนกลายเป็นที่หวั่นเกรงของรัฐไทย ซึ่งขณะนั้นต้องถือว่ารัฐยังไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเพียง 3 ปี

 

รัฐไทยและคณะสงฆ์รัฐไทยมีความหวั่นเกรงต่อกลุ่มกระบวนการของครูบาศรีวิชัยอย่างยิ่ง และมีความมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะจัดการกระบวนการครูบาศรีวิชัย โดยกล่าวว่า เรื่องพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ขอลาออกไปขึ้นในปกครองพระศรีวิชัย บัดนี้เจ้าคณะมณฑลพายัพท่านพิจารณาเห็นว่า มูลเหตุเกิดจากพระศรีวิชัย ถ้าจะปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมก็จะทำได้เพียงตัดปลายเหตุเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ทำให้พระศรีวิชัยรู้สึกกระทบกระเทือน หรือเข้าใจไปว่าคณะสงฆ์ไม่อาจทำอะไรได้ ถ้าพระศรีวิชัยยังคงอยู่ในมณฑลพายัพตราบใด เรื่องของคณะสงฆ์คงไม่ถึงความสงบเรียบร้อยตราบนั้น สมควรจัดการให้พระศรีวิชัยพ้นไปจากมณฑลพายัพ โดยขออาราธนาให้ลงมาทำการก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือเรียกตัวลงมารับการอบรมที่กรุงเทพฯ จนกว่าคณะสงฆ์จะพิจารณาเห็นสมควรให้กลับ

 

ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าคณะมณฑลพายัพ พระธรรมโกศาจารย์ ยังกล่าวโจมตีอีกว่า กระบวนการของครูบาศรีวิชัยทำให้ผู้คนต่อต้านขัดขืนการมุ่งหมายในการดำเนินงานด้านการศึกษาอันเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลคณะราษฎร โดยกล่าวว่า

 

“…ในจำนวนพลเมืองทั้งหมดที่นิยมลัทธิของพระศรีวิชัยราว 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ยอมสำเหนียกการศึกษาที่เป็นไปตามสมัย นิยมลัทธิดั้งเดิม คนที่รู้หนังสือไทยสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลเมืองเห็นจะไม่ได้ โรคไม่นิยมภาษาไทย เป็นโรคเรื้อรังติดต่อกันไปไม่ขาด โรงเรียนประชาบาลบางแห่ง โต๊ะ เก้าอี้ ม้าเรียน ของครูและนักเรียนถูกเผาไฟบ้าง ถูกทิ้งในป่าบ้าง สร้างความเดือดร้อนแก่ธรรมการอำเภอไม่หยุดหย่อน…”

 

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวลงมากักไว้ที่กรุงเทพฯ และถูกกล่าวหาจากรัฐว่าไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ โดยมีข้อกล่าวหาหลายประการ เช่น 1. จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ 2. ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอาเอง (เถื่อน) 3. ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง 4. ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม 5. ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ

 

ด้วยเหตุที่ท่านถูกกล่าวโทษและปราบปรามโดยรัฐบาลขณะนั้น ทำให้ท่านโกรธเคืองอย่างยิ่ง และยังคงมีความโกรธเคืองต่อคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกลุ่มชนชั้นนำเชียงใหม่ที่เคยใกล้ชิดท่านด้วยเช่นกัน จึงทำให้ท่านถึงขนาดที่ประกาศคำกล่าวอันเป็นอมตะวาจาที่เล่าขานกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ต่อหลวงศรีประกาศ

 

 

 

จดหมายจากครูบาฯ ถึงพระยาพหลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากประกาศอมตะวาจาต่อหน้าหลวงศรีประกาศแล้ว ท่านยังมีความขุ่นเคืองถึงขั้นเขียนจดหมายถึงพระยาพหลฯ ใน พ.ศ. 2478 ขอยกเลิกการก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพที่สร้างมาทั้งหมดอีกด้วย โดยกล่าวว่า 

 

“…อาตมาได้ช่วยเหลือมามากแล้ว จนเป็นหนทางขึ้นไปนมัสการได้ แลเคยทำบุญมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้ไป อาตมาขอมอบไว้กับท่านและราชการบ้านเมือง เพื่อจะได้ดำริสร้างต่อ ส่วนอาตมาได้ลงบันทึกต่อคณะสงฆ์แล้วว่าจะไม่ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างไม่ว่าวัตถุใดๆ ในเชียงใหม่อีก อาตมาขอยุติไม่ทำ… อีกประการหนึ่งทายก ทายิกาทั้งหลาย ที่มีศรัทธามารับจะซ่อมแซมหนทาง… เขาต่างท้อถอยไปหมด พร้อมกันคืนคำไม่รับทำเสียเลย…”

 

แม้ภายหลังเจ้าแก้วนวรัฐจะได้เขียนจดหมายมาชี้แจงแก่รัฐบาล เพื่อขอพระราชทานงบในการสร้างสะพานห้วยแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพของครูบาศรีวิชัย ความว่า “…พระศรีวิชัยคลายความโกรธลงบ้างแล้ว รู้สึกยังอาลัยการก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพอยู่ พระศรีวิชัยคงจะไม่ละทิ้งการก่อสร้างเสียทีเดียว เพราะนิสัยของพระศรีวิชัย ทำอะไรไปแล้วมักต้องทำให้จนสำเร็จ…” ส่วนหลวงศรีประกาศก็ได้เขียนจนหมายมาด้วยเช่นกันว่า “…วันนี้ผมพบพระศรีวิชัย ท่านว่าถ้าทางราชการอนุญาตให้ทำต่อไปก็จะทำอีก เพราะตั้งใจไว้แล้ว…” 

 

แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ภายหลังครูบาศรีวิชัยก็ไม่ได้กลับมาเป็นผู้นำในการดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพต่อดังคำกล่าวของทั้งสองท่าน กลับอาศัยอยู่ในจังหวัดลำพูน โดยไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกเลยจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. 2481 

 

ฉะนั้น สาเหตุเหล่านี้จึงเป็นต้นตอที่มาของเรื่องราวอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัยที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สร. 0201.10/61 เรื่องพระศรีวิชัยไม่ปรองดองกับคณะสงฆ์ (พ.ศ. 2478-2479)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร. 0201.66.5.2/46 เรื่องพระศรีวิชัยสร้างทางขึ้นไปบนพระธาตุดอยสุเทพเชียงใหม่ (30 ม.ค. 2476 – 12 ก.พ. 2478)
  • ศรีประกาศ (หลวง), ประวัติถนนขึ้นดอยสุเทพ, คัดจากหนังสือยุวพุทธิกานุสรณ์หน้า 1 ปีที่ 6 พ.ศ. 2484
  • โสภา ชานะมูล, ครูบาศรีวิชัย “ตนบุญแห่งล้านนา”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.
  • เพ็ญสุภา สุขคตะ “เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัย หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนคร
  • เชียงใหม่ (1). มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 35,  ฉบับที่ 1795 9-15 ธ.ค. 2558: 84 เพ็ญสุภา สุขคตะ “เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัย หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนคร
  • เชียงใหม่ (2).” มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 35, ฉบับที่ 1796 16-22 ธ.ค. 2558:   84.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X