×

KResearch เตือนขึ้น VAT จ่อดัน ‘เงินเฟ้อ’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ หวั่นแนวทางภาษีใหม่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

04.12.2024
  • LOADING...
KResearch เตือนขึ้น VAT จ่อดัน ‘เงินเฟ้อ’

KResearch เตือนปรับขึ้น VAT จ่อดัน ‘เงินเฟ้อ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หวั่นแนวทางภาษีใหม่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น พร้อมแนะรัฐบาลอาจพิจารณาขึ้น VAT เฉพาะกลุ่มสินค้า และเพิ่มรายได้ภาครัฐจากภาษีความมั่งคั่งอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน พร้อมเตรียมมาตรการเสริมอื่นๆ ควบคู่ด้วย อย่างเช่น Negative Income Tax

 

วันนี้ (4 ธันวาคม) ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) กล่าวถึงกรณีที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยระบุว่า จากการประเมินโดยคร่าวๆ พบว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.8%

 

“ในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยมีสินค้าที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ราว 60% ดังนั้นถ้าเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 3% อัตราเงินเฟ้อก็จะเพิ่ม 1.8% โดยคร่าวๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้คนไม่ได้ใช้จ่ายลดลง” ณัฐพรกล่าว

 

ทำไมรัฐบาลไทยมีแนวคิดเตรียมปรับขึ้น VAT

 

ณัฐพรวิเคราะห์อีกว่า เหตุผลที่รัฐบาลต้องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาจากความต้องการที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านการลดต้นทุนภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) และต้นทุนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลลง (Personal Income Tax) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกลับมีพื้นที่การคลังจำกัด เนื่องจากปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานที่ระดับ 70% ต่อ GDP แล้ว ขณะที่การขาดดุลการคลังของไทยก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ต่างจับตามอง

 

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีความจำเป็นที่ต้องหารายได้มาชดเชย (Offset) จึงตัดสินใจศึกษาการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลรองจากภาษีเงินได้ (Income Tax)

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกระทรวงการคลังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกือบ 1 ล้านล้านบาท (947,284 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) สูงกว่าประมาณการ 3.4% และสูงกว่าปีก่อน 3.7% ขณะที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 783,339 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 415,435 ล้านบาท

 

วันนี้พิชัยกล่าวถึงแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% ว่าเป็นแค่การศึกษาเท่านั้น โดยจะพิจารณาผลการศึกษา รวมไปถึงข้อดีและข้อเสียอีกครั้ง พร้อมรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เนื่องจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

 

เศรษฐกิจไทยพร้อมหรือไม่สำหรับการปรับขึ้น VAT

 

ณัฐพรกล่าวว่า 2 ปัจจัยหลักที่รัฐบาลควรพิจารณาหากต้องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3%YoY เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2/67

 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤศจิกายนสูงขึ้น 0.95% (YoY) ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่ CPI เฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.32% (AoA)

 

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.4% ช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 0.7% ในปี 2568

 

หวั่นแนวทางภาษีใหม่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

 

ณัฐพรยังห่วงว่าแนวทางภาษีใหม่ดังกล่าวที่จะปรับลดภาษีเงินได้ลง แต่ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยแย่ลง เนื่องจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เสียภาษี 15% ขึ้นไปเท่านั้น แต่การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน

 

ดังนั้นณัฐพรจึงแนะว่า ก่อนจะเริ่มแนวทางภาษีใหม่ ภาครัฐควรต้องอุดผลกระทบทางลบที่จะตามมาให้หมดก่อน โดยอาจต้องมีมาตรการเสริมอื่นๆ อย่างเช่น Negative Income Tax

 

แนะรัฐบาลขึ้น VAT เฉพาะกลุ่มสินค้า และเพิ่มรายได้จากภาษีความมั่งคั่งอื่นๆ

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แนะว่า รัฐบาลอาจพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกลุ่ม โดยยกตัวอย่างสหราชอาณาจักรว่า ปัจจุบันเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 20% แต่ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าจำเป็น เช่น อาหารบางประเภท นม และผ้าอนามัย

 

นอกจากนี้ บุรินทร์ยังแนะว่า รัฐบาลอาจเพิ่มรายได้จากภาษีความมั่งคั่งอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X