ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยขยับสูงขึ้นเป็นกว่า 12.8 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 4/2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2561 มีปัจจัยเฉพาะที่สำคัญคือ การปรับเกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน (Loan To Value: LTV) ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ครัวเรือนบางกลุ่มเร่งตัดสินใจก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562
ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 2561 เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของปี 2561 ขยับขึ้นไปที่ 78.6% จากเดิมเท่ากับ 78.3% ในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่ครัวเรือนรับที่ภาระเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ และขยายธุรกิจ ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ทั้งกลุ่มแบงก์และนอนแบงก์จะยังเน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2562 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงระดับปลายปี 2561 คือทรงตัวในกรอบประมาณ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี เมื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ประกอบกับภาระหนี้ของครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้บ้านและหนี้รถ ซึ่งมีผลผูกพันหลายปี อาจมีผลทำให้ครัวเรือนใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้ก้อนใหม่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)