น่าจะลอยออกทะเลหรือไม่ก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำ เป็นขยะในแม่น้ำลำคลอง หลายคำตอบของประชาชนในค่ำคืนวันเพ็ญ จากประโยคคำถามที่ว่า รู้ไหมกระทงที่เราลอยลงในแม่น้ำเพื่อขอขมาและขอพรพระแม่คงคา สุดท้ายแล้วจะลอยไปอยู่ที่ไหน
15 ค่ำ เดือน 12 ของปี 2566 หลังคืนลอยกระทง ขยะที่ผลิตจากวัสดุหลากหลายชนิดทั้งวัสดุธรรมชาติ โฟม ขนมปัง และวัสดุที่หลายคนคิดว่าจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ กลายเป็นผู้ร้ายในฐานะ ‘ขยะและมลภาวะทางน้ำ’ ในทุกปีๆ ของเทศกาลลอยกระทง
แม้ปีนี้กระทงจากโฟมจะน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม แต่ ‘ขยะก็คือขยะ’ ที่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ นำเข้าสู่กระบวนคัดแยกที่ถูกต้อง และใช้เวลาในการย่อยสลาย
กรุงเทพมหานครจัดกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 168 คน พร้อมเรือเก็บขยะ 31 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ, เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช 2 ลำ, เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช 1 ลำ, เรือกวาดเก็บวัชพืช 1 ลำ, เรือตรวจการณ์ 2 ลำ, รถตรวจการณ์ 5 คัน และรถบรรทุกเทท้าย 8 คัน เริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. คืนวันลอยกระทง จนถึงเวลา 05.00 น. ของย่ำรุ่งวันที่ 28 พฤศจิกายน ป้องกันขยะกระทงหลุดลอยออกทะเล หรือจมลงสู่ใต้น้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำและสัตว์น้ำในระยะยาว
ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ THE STANDARD ติดตามการเดินทางของกระทงตั้งแต่ถูกลอยลงแม่น้ำ จนถึงโรงคัดแยกขยะ กระทงและคำขอขมาถูกจัดการด้วยกระบวนการไหน ‘สวนเบญจกิติ’ คือพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองขนาดใหญ่ และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถนำกระทงมาลอยลงแหล่งน้ำได้ และเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำระบบปิด จึงต้องมีวิธีในการจัดการชัดเจนมากกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติ จากเทศกาลลอยกระทงสองปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากขยะตกค้างส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และส่งผลให้สัตว์น้ำเสียชีวิต
หลังจากกระทงใบสุดท้ายของค่ำคืนถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ เจ้าหน้าที่ของสวนเบญจกิติ และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครกว่า 100 ชีวิต รถขยะ 4 คัน และเรือ 4 ลำ แข่งกับเวลา ขยะที่อยู่ในแหล่งน้ำต้องถูกนำขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อเริ่มกระบวนการบำบัดน้ำในขั้นตอนต่อไป
กระทงจากวัสดุธรรมชาติและกระทงจากโฟมถูกนำขึ้นจากแหล่งน้ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหมือนทุกๆ ปี เหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งที่ไม่สามารถเก็บกู้ขึ้นมาได้เหมือนขยะทั่วไปอย่างคราบน้ำมัน เศษขนมปัง และเศษวัสดุ เช่น เข็มกลัดกระทง ลูกแม็ก ที่อาจหลุดไปในช่วงกระทงลอยอยู่ในแหล่งน้ำ
จากวัสดุธรรมชาติที่ใครหลายคนเข้าใจว่ากลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาของระบบนิเวศที่ต้องใช้งบประมาณในการจัดการ จากประเพณีเพื่อการขอขมาตามความเชื่อ กลายเป็นประเพณีที่ถูกตั้งคำถามถึงการจัดการขยะจำนวนมหาศาลภายในหนึ่งคืน
กทม. สรุปยอดขยะกระทงปี 2566 เก็บได้ 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.74 ปี 2565 กทม. จัดเก็บกระทงในพื้นที่ กทม. ได้จำนวนทั้งสิ้น 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 อย่างไรก็ตาม กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3
ข้อมูลจาก www.bangkok.go.th และ www.thestandard.co/bangkok-collect-krathong-garbage
สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้จะถูกนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วยศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ในส่วนของกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป
ถึงแม้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจะมีกระบวนการในการย่อยสลายได้เอง และบางส่วนถูกส่งไปช่วยย่อยยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในทุกๆ ปีเราจะเห็นข้อมูลการจัดการขยะจากกระทงเหมือนเดิม ต่างกันเพียงจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าพระแม่คงคาขอพรคืนได้ คำอธิษฐานข้อเดียวที่อยากขอคงเป็นการจัดการขยะจากกระทงไม่ให้เพิ่มขึ้นในแม่น้ำได้อย่างไรในปีหน้า
กระทงโฟมที่ถูกคัดแยก และนำไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอย
รถขนขยะกระทงในเขตคลองเตย มุ่งหน้าสู่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ในคืนวันลอยกระทง
รถขนขยะกระทงคันแรกที่มาถึงศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ไม่รู้ว่าจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับขยะกระทงที่กำลังจะตามมาหรือเปล่าสำหรับคืนนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยให้ข้อมูล
เจ้าหน้าที่ประจำสวนเบญจกิติเร่งนำขยะจากกระทงขึ้นผิวน้ำ เพื่อเริ่มขั้นตอนการบำบัดน้ำ
เจ้าหน้าที่ประจำสวนเบญจกิติพายเรือเก็บกระทง เพื่อเริ่มขั้นตอนการบำบัดน้ำ
สีของดอกไม้ที่ไม่ได้ทำจากวัสดุธรรมชาติบนขยะกระทง เป็นอีกหนึ่งปัญหาตกค้างในแม่น้ำที่มีผลต่อระบบนิเวศ
เจ้าหน้าที่ประจำสวนเบญจกิติที่อยู่บนเรือจะเร่งตักขยะกระทงประเภทขนมปัง หรือวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ขึ้นจากแหล่งน้ำก่อน เพื่อลดการตกค้างและปัญหาน้ำเน่าเสีย
เศษขนมปังที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ สำหรับแหล่งน้ำระบบปิดนี่คือปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสีย และทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิต
เจ้าหน้าที่ กทม. และสวนเบญจกิติเร่งตักขยะกระทงขึ้นผิวน้ำ เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานกำจัดขยะ
ขยะกระทงจากโฟมถูกคัดแยกเพื่อง่ายต่อการจัดการในกระบวนการต่อไป
แม่ค้าขายกระทงบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าบอกว่า ปีนี้เงียบกว่าปีที่ผ่านมา คนมาลอยกระทงน้อยมาก ที่มาส่วนใหญ่ก็นำกระทงมาเอง
กระทงหลากสีสันรอลูกค้ามาซื้อเพื่อนำไปอธิษฐานและขอขมาพระแม่คงคา
กระทงตุ๊กตาปลาฉลาม การย่อยสลายอาจใช้เวลานานเป็นร้อยปี เนื่องจากไม่ใช่วัสดุที่ย่อยสลายในน้ำได้ตามธรรมชาติ
คำอธิษฐานและคำขอขมาพระแม่คงคาในวันลอยกระทง วัฒนธรรมที่ส่งต่อจากอดีตสู่ปัจจุบัน
กระทงจากวัสดุธรรมชาติในคืนวันลอยกระทง ปี 2566
กระทงจากวัสดุธรรมชาติถูกทำด้วยความประณีต เขาทำมันด้วยความตั้งใจทุกๆ ปี เพื่อมาอธิษฐานขอพร และขอขมาที่เคยทิ้งสิ่งสกปรกลงในแม่น้ำ หรือล่วงเกินสายน้ำ
คำอธิษฐาน คำขอขมาจากใจถึงพระแม่คงคา ฝากไว้ในกระทงก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ