วานนี้ (18 กุมภาพันธ์) สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา เรื่อง แพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย (BKK Follow-up) ฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โครงสร้างอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และข้อมูลด้านสถานการณ์ในเชิงพื้นที่ เช่น น้ำท่วมถนน พื้นที่สีเขียว มลพิษในคลอง ปริมาณขยะมูลฝอย ฝุ่นควันเกินมาตรฐาน เป็นความรู้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ส่งผลต่อการจัดทำนโยบาย
สำหรับการสัมมนามีการถ่ายทอดสดทางแฟนเพจ สถาบันพระปกเกล้า และสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย นำเสนอแพลตฟอร์มโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน
สถาบันพระปกเกล้า ยืนยัน เป็นกลางทางการเมือง
วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า โครงการแพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (BKK Follow-up) ไม่ทราบว่าจะต้องเปลี่ยนเป็น ‘กรุงเทพมหานคร Follow-up’ หรือไม่ เพราะมีข้อถกเถียงกันอีกแล้วว่า ตกลงจะใช้ชื่อแบบเดิมคือบางกอก ตามพื้นที่เมื่อก่อนมีต้นมะกอกเยอะ หรือใช้ชื่อ กรุงเทพมหานคร ตามที่รัชกาลที่ 1 สถาปนาขึ้น โครงการนี้ขอใช้แบบเดิมคือ BKK Follow-up
โครงการนี้สิ่งสำคัญคือการพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ใช้ดุลยพินิจในการเลือกตั้ง หรือการมีส่วนร่วมการทำประชามติ
โครงการ BKK Follow-up เริ่มต้นจากงานวิจัยของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จึงมาคุยกันว่าจะช่วยการสื่อสารข้อมูลและการสื่อสารทางการเมืองอย่างไร เพื่อให้มีประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง
“ความมุ่งหวัง ความคาดหวังในการทำโครงการนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการมีส่วนร่วม มีดุลพินิจที่ดีในการตัดสินใจ สิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าระมัดระวังมากขึ้นยิ่งใกล้ประกาศวันเลือกตั้งก็คือ ความเป็นกลางทางการเมือง ที่จะไม่พยายามทำให้โครงการนี้เอื้อประโยชน์กับใคร แต่เป็นโครงการกลางๆ ที่ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ โดยข้อมูลข่าวสารทั้งหมดเป็นข้อมูลหลักการทั่วไปให้ประชาชนเข้าถึง ส่วนใครจะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเพื่อหาเสียง หรือเป็นพื้นที่ขยับขยายต่อก็เป็นยุทธศาสตร์ เป็นกลยุทธ์ของผู้สมัครฯ แต่ละคน ฉะนั้น สถาบันพระปกเกล้าขอยืนยันความชัดเจนเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตข้างหน้าด้วย” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าว
ข้อมูลพื้นฐานปัญหาใน กทม. ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องตอบคำถาม
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การบรรยายนี้จะให้เห็นภาพรวมวิวัฒนาการกรุงเทพฯ ก่อนถึงตัวแพลตฟอร์ม BKK Follow-up
กรุงเทพฯ มีจุดแบ่งที่สำคัญคือ ยุคก่อนเข้าสู่สมัยใหม่ ตอนต้น กรุงเทพฯ ยุคบางกอกเป็นราชธานี แต่การบริหารยังไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นอยู่ของผู้คน สนใจแต่เรื่องระเบียบซึ่งก็คือลักษณะเดียวกันทั่วโลก เป็นเรื่อง Police อยู่ในกรมเวียง หรือกระทรวงเมือง กระทรวงนครบาล อธิบายง่ายๆ ตั้งแต่ระบบศักดินาคือเป็นเรื่องตำรวจ การจับโจรผู้ร้าย
มิติที่ 2 ของกรุงเทพฯ เริ่ม ปี 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการจัดตั้งสุขาภิบาล เริ่มสนใจเรื่องความสะอาดในกรุงเทพฯ เป็นฐาน ยุคนั้นยังไม่มีส้วมในบ้าน
ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปรับมาเป็นเทศบาล จุดเด่นของกรุงเทพฯ เทศบาลมีลักษณะเต็มพื้นที่ ต่างจากต่างจังหวัดที่เทศบาลมีเฉพาะเขตเมือง ต่อมาปรับเป็นกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าฯ แต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง มาเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรก 2518 เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งยังใช้ถึงทุกวันนี้ ที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง 9 สมัย แต่ยุคล่าสุดคือ ปี 2559 หลัง คสช. ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แล้วตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ขณะที่ก่อนหน้านั้น การรัฐประหารปี 2534 ปี 2549 จะไม่แตะโครงสร้าง กทม. แต่ปัจจุบันเหลือแต่ กทม. ที่ยังไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่น
การเลือกตั้งเมื่อปี 2518 ผลคะแนนเสียงเต็มที่ไม่ถึงแสนก็เป็นผู้ว่าฯ ได้ ต่อมาคะแนนเริ่มแตะหลักล้านคะแนนในยุค สมัคร สุนทรเวช มาถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ไม่เป็นจังหวัด เพราะไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด มีแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งในมุมของกระทรวงมหาดไทย ก็คือนายกเทศมนตรีคนหนึ่ง หรือ นายก อบจ.
กระทรวงมหาดไทยจึงคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ ต่อสัญญาสัมปทาน หรือไม่สั่งให้เลือกตั้งก็ทำได้ กรุงเทพฯ มี 50 เขตซึ่งเหมือนอำเภอ แต่ประชาธิปไตยระดับชุมชนในต่างจังหวัดมีง่ายกว่ากรุงเทพฯ เพราะมี อบต. ศอ.บต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่ใน กทม. ไม่มีโครงสร้างในแต่ละเขต สภาเขตถูกยุบสมัย คสช. ด้วยข้ออ้างว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งงงมาก
งบประมาณนับแต่ คสช. ยึดอำนาจ รัฐจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประชากรที่สามารถเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ลดลง แล้วไปอยู่ในเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ คนได้ประโยชน์จากงบประมาณกรุงเทพฯ จะลดลง ทำให้ความไม่เท่าเทียมมีสูงขึ้น
ส่วนแพลตฟอร์ม BKK Follow-up เปิดดูได้จากเว็บไซต์ จะมีข้อมูลพื้นฐานกรุงเทพฯ สิ่งที่สำคัญมีการสำรวจสถานการณ์ต่างๆ ทำออกมา 5 ด้าน สามารถใช้ประโยชน์ เช่น ดูข้อมูลน้ำท่วมถนน เขตที่น้ำท่วมขังบ่อยสุด เขตที่ระดับน้ำท่วมสูงสุด คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. มีแผนอย่างไร เขตที่มีมลพิษในคลองสูงสุด ขยะมูลฝอยแต่ละเขต ซึ่งว่าที่ผู้ว่าฯ ต้องตอบว่าจะเคลียร์อย่างไร การเอาออกไปทิ้งข้างนอกมีความเป็นธรรมกับพื้นที่โดยรอบหรือไม่ ในขณะที่ กทม. ได้เงินมากกว่าพื้นที่โดยรอบ การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ควรต้องพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวพันกับพื้นที่โดยรอบด้วย
รวมถึงข้อมูลเรื่องฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ให้เห็นภาพว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องตอบคำถาม
ผู้ว่าฯ กทม. มีความสำคัญทางการเมืองสูง ก่อนปี 2540 เป็นนักการเมืองซึ่งมีเขตเลือกตั้งใหญ่สุดในประเทศ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนใหญ่ผู้ว่าฯ กทม. จะได้รับการเลือกตั้งจากพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลในระดับชาติ
อีกอย่างที่สำคัญคือ มายาคติเรื่อง ‘ผู้สมัครอิสระ’ ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน มีเพียง พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ในการเลือกตั้ง 2528 และ ดร.พิจิตต รัตตกุล ในปี 2539 ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรคการเมือง อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่เห็นอยู่แล้วว่า ผู้สมัครเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองบางพรรคที่ตัดสินใจไม่ส่งผู้มัครในครั้งนั้น
พล.ต. จำลอง ได้รับการสนับสนุนจากพรรคกิจสังคม ตอนนั้นเป็นกฐินใหญ่ที่ไม่เอาประชาธิปัตย์จึงหนุน พล.ต. จำลอง ส่วน ดร.พิจิตต รอบนั้น ในด้านตรงข้ามคือ ประชาธิปัตย์ไม่ส่ง แต่ก็ไม่มีความจีรังยั่งยืนเพราะในรอบหลังจากนั้นทั้ง 2 คนลงสมัครรับเลือกตั้งก็แพ้
พิชญ์กล่าวถึงการเมืองในปัจจุบันว่า เป็นยุค ‘หลังซื้อเสียง’ ไม่ใช่ไม่มีการซื้อเสียงแล้ว แต่การซื้อเสียงไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่จะถูกจับได้หรือเป็นเงื่อนไขทำให้อดเล่นการเมือง โดยสถิติจะมีการสอยเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งเป็นกรรมเก่าทั้งสิ้น และคุณสมบัติเป็นเรื่องอยู่ในดุลยพินิจองค์กรอิสระ คนแพ้ไม่สอยเรื่องซื้อเสียงเพราะยาก แต่จะไปสอยกันเรื่องคุณสมบัติ การรณรงค์ไม่ซื้อสิทธิขายเสียงอาจไม่พอ ถ้าจะรณรงค์อาจต้องรณรงค์ตั้งแต่เกิด อย่าทำอะไรผิดเพราะมีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ
ฐานข้อมูลมีความสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่
สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าตอนคิดแพลตฟอร์ม BKK Follow-up เกิดจากความรู้สึกว่าหลังเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 แล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น่าจะตามมาในเร็ววัน
แต่ปรากฏว่าตอนนี้ปี 2565 แล้ว ก็ยังลุ้นอยู่ว่าจะได้เลือกไหม ความตื่นตัวของคนในการเลือกตั้งปี 2562 มีความน่าสนใจ และข้อมูลการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก คนรุ่นใหม่มีการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ เขามีสิทธิรับรู้ข้อมูลที่เพียงพอในการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้ว่าฯ หรือ สก. มีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกดดูได้เลย
ข้อมูลพื้นฐานนี้สำหรับการเตรียมความพร้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำไปสื่อสาร พูดคุย เรียกร้อง หรือตั้งคำถามกับผู้สมัครหรือนักการเมือง ไว้เรียนรู้ว่าตัวเราอยู่ที่ไหน ได้รับการดูแลอย่างไรในทางนโยบาย รวมถึงสถานที่เลือกตั้งซึ่งเคยอลวนกับเรื่องเหล่านี้ในการเลือกตั้งปี 2562
เราไม่อยากให้การเมืองเป็นเรื่องแค่รอวันเลือกตั้งหรือมีการเลือกตั้งแล้วจบ หลังจากได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ สก. คนใหม่ ยังมีวาระอีก 4 ปี ให้ประชาชนติดตามต่อ แต่ทำอย่างไรให้มีข้อมูลจากภาคประชาชนมาเสริมแบบเรียลไทม์ ซึ่งเรากำลังพัฒนาอะไรแบบนี้อยู่
เดิมผู้สมัครฯ สังกัดพรรคจะได้เปรียบ แต่หย่อนบัตรครั้งต่อไปต้องลุ้นผลอาจไม่เหมือนเดิม
อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเมืองเมืองหลวงมีความแตกต่างพื้นที่นอก กทม. ในหลายประเด็น เช่น บทบาทคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก มีความกระตือรือร้นต่อมุมมองการเลือกตั้ง
ข้อมูลทำให้เห็นว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งในอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำคะแนนหลักแสนก็ชนะ แต่ปัจจุบันดูตัวเลขแล้วต้องทำคะแนนหลักล้าน อาจจะต้องชัดเจนว่ามีกลยุทธ์อย่างไรซึ่งไม่ง่าย
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ 2 คนที่ประกาศตัว คือ รสนา โตสิตระกูล และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่มีร่มเงาอะไรบางอย่างอยู่ ประกอบกับมีพรรคที่บอกไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ
ขณะเดียวกันเจอสตอรีของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว สรุปถูกหรือผิดที่สังกัดพรรค ทำไมสถานการณ์ดูหนักหนาสาหัสมาก เป็นเพราะ Party Politic หรือเปล่า หรือเพราะเขาดูข้อมูลอาจารย์พิชญ์แล้วว่า ครั้งหลังๆ ประชาธิปัตย์ได้ตลอด อย่างนั้นหรือเปล่าจึงต้องมียุทธศาสตร์สกัดประชาธิปัตย์ และอาจต้องดูเหตุผลทำไม สุชัชวีร์เลือกประชาธิปัตย์
การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับไม่บังคับผู้สมัครต้องสังกัดพรรค แต่เผอิญการเมืองใน กทม. ระยะหลังผู้ชนะจะผ่านพรรคการเมือง
ผู้สมัครมีทางเลือกจะลงในนามพรรคหรือไม่ แต่ดูจากฐานข้อมูลแล้ว ทายอนาคตว่า ว่าที่ผู้สมัครที่สังกัดพรรคน่าจะได้เปรียบ ซึ่งดูจะขัดกับคะแนนนิยม ณ ปัจจุบัน ซึ่งน่าสนุกที่จะติดตามต่อ
ส่วนข้อมูลรายละเอียดในระดับเขตก็ทำให้น่าสนใจ รวมถึงการเลือกตั้ง สก. และบทบาทที่ สก. ต้องทำ
ในอนาคตถ้าสถาบันพระปกเกล้ามีโอกาสจะทำรณรงค์การเลือกตั้งเชิงนโยบายมากขึ้น คิดว่าคงไม่ทำแค่ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยข้อมูลที่มี แต่ละเขตก็มีความน่าสนใจ
ข้อมูลจะทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับนโยบายมากขึ้น
ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้จะสร้างนิสัยใหม่ทั้ง 2 ฟาก ในฟากรัฐ ระบบราชการเดิมมีระบบการติดตามและประเมินผล ที่แย่มาก ไม่ใช่การจัดเก็บในเชิงการใช้จัดการ ไม่เคยมีแบบแพลตฟอร์มแบบที่เราเห็น
ส่วนอีกฟาก คือฟากประชาชน ฐานข้อมูลนี้จะทำให้คนดูคิดกับข้อมูล โหมดการเก็บข้อมูลเรียลไทม์อัปเดตจากภาคประชาชนจะมีประโยชน์ เกิดนิสัยการติดตามผลงานโดยไม่รู้ตัว รัฐทำงานด้วยเจตนาแบบไหนอย่างไร ทำให้เกิดความรับผิดชอบ
กรณีคนที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่เกี่ยวกับข้อมูลหรือนโยบาย อาจจะได้ด้วยความเป็นไอดอลไม่ใช่เพราะชูนโยบาย
การมีระบบข้อมูลแบบนี้จะทำให้ผู้ใช้สิทธิหันมาเลือกด้วยข้อมูลนโยบาย จะต้องเลือกคนที่ใช่ เพื่อแก้ปัญหาตรงจุด เพราะเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไขจะถูกรายงานในระบบข้อมูล
ภาพ: สถาบันพระปกเกล้า