×

Kotaro Lives Alone กับ 5 บทสนทนาที่อยากให้ทุกคนกล้าโอบรับความอ่อนแอเพื่อที่จะเข้มแข็งขึ้น

25.03.2022
  • LOADING...
Kotaro Lives Alone

*หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของอนิเมะ Kotaro Lives Alone โคทาโร่ อยู่คนเดียว

 

ถือเป็นอีกหนึ่งอนิเมะที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ณ เวลานี้ สำหรับ Kotaro Lives Alone โคทาโร่ อยู่คนเดียว อนิเมะซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Netflix ที่ดัดแปลงมาจากมังงะในชื่อเดียวกันของ มามิ ซึมุระ โดยได้สตูดิโอ Liden Films มารับหน้าที่ดูแลการผลิต 

 

ด้วยเรื่องราวของ โคทาโร่ เด็กชายวัย 4 ขวบที่ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตเพียงลำพังอยู่ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง จนเกิดเป็นเรื่องราวสุดประทับใจที่เชื่อว่าผู้ชมทุกคนจะได้รับบทเรียนจากอนิเมะเรื่องนี้ไปไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน THE STANDARD POP จึงถือโอกาสชวนคออนิเมะมาร่วมย้อนชม 5 บทสนทนาจาก Kotaro Lives Alone ที่อยากให้ทุกคนกล้าโอบรับความอ่อนแอเพื่อที่จะเข้มแข็งขึ้น

 

สามารถรับชมอนิเมะ Kotaro Lives Alone ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

 

Kotaro Lives Alone

 

หลังจากที่ มิซึกิ หญิงสาวที่พักอยู่ในห้อง 201 ตัดสินใจเดินทางไปหาแฟนหนุ่มที่ส่งข้อความมาขอยืมเงิน เธอจึงซื้อเบียร์มาดื่มอย่างหนักเพื่อหวังว่าจะช่วยบรรเทาความเศร้า กระทั่งในเช้าวันถัดมา โคทาโร่และคาริโนะที่เดินผ่านมาเห็นเธอกำลังนอนซมอยู่หน้าห้อง เธอจึงพยายามทำตัวบ่ายเบี่ยงเพื่อไม่ให้ทั้งคู่เป็นห่วง

 

แต่ดูเหมือนว่าโคทาโร่จะสังเกตเห็นคราบน้ำตาและรอยช้ำบนใบหน้าของมิซึกิ เขาจึงรีบวิ่งไปร้านสะดวกซื้อเพื่อนำขวดน้ำแช่เย็นมาให้มิซึกิใช้ประคบตาเพื่อไม่ให้ตาบวม แต่มิซึกิกลับพยายามปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ร้องไห้ 

 

“ไม่เป็นไรขอรับ ต่อให้คุณร้องไห้จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าผมจะไม่ชอบคุณ การร้องไห้มันไม่ได้ผิดตรงไหน”

 

ประโยคสั้นๆ ที่โคทาโร่บอกกับมิซึกิประโยคนี้แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า บางครั้งการร้องไห้อาจไม่ได้บ่งบอกว่าเราเป็นคนอ่อนแอ เพราะเราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่อ่อนแอด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นแล้วการยอมรับว่าตัวเองกำลังอ่อนแอ และอนุญาตให้ตัวเองร้องไห้เพื่อระบายความโศกเศร้าออกมา ก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาจิตใจของตัวเองได้เช่นกัน

 


 

Kotaro Lives Alone

 

แม้ว่าโคทาโร่จะเป็นเด็กที่มีความคิดความอ่านเหมือนผู้ใหญ่ และสามารถปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตเพียงลำพังได้ดีขนาดไหน แต่ดูเหมือนว่าเขาจะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ

 

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่โคทาโร่ต้องการจะเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวให้ดูดีขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ผู้คนรอบข้างประทับใจในตัวเอง เขาจึงชักชวนให้ ทามารุ จากห้องพัก 102 มาช่วยเลือกซื้อเสื้อผ้า แต่ในระหว่างที่ทั้งคู่กำลังเลือกซื้อชุดกันอยู่ ผู้คนรอบข้างต่างก็จับจ้องมาที่ทามารุที่แต่งตัวเป็นยากูซ่า จนทำให้ทุกคนเข้าใจผิดว่าทามารุกำลังล่อลวงโคทาโร่ ทามารุที่ได้ยินเสียงของคนรอบข้างมาตลอดทาง จึงได้มอบบทเรียนสำคัญข้อหนึ่งให้กับโคทาโร่ 

 

“ฟังฉันนะโคทาโร่ บางคนแต่งตัวดีก็มีคนเกลียดอยู่ดี เพราะฉะนั้นแต่งตัวดีไม่ได้สำคัญที่สุดหรอก อย่างที่เธอไม่ได้แต่งตัวดีมีสไตล์ ฉันก็ยังชอบเธอเลย”

 

เพราะทามารุเข้าใจดีว่าการถูกคนอื่นตัดสินว่าเราเป็นคนดีหรือไม่ดีจากภาพลักษณ์ภายนอก มันทำให้ตนเองรู้สึกอึดอัดขนาดไหน เขาจึงหวังว่าบทสนทนาในครั้งนี้จะช่วยให้โคทาโร่ได้เข้าใจว่า แม้ว่าเราจะพยายามทำทุกอย่างให้ทุกคน ‘พอใจ’ ขนาดไหน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนเหล่านั้นจะยอมรับในตัวตนของเราจริงๆ ทุกคนเสมอไป เพราะในท้ายที่สุด คนที่มองเห็น ‘คุณค่า’ และ ‘เข้าใจ’ ในตัวตนที่แท้จริงของเราต่างหากที่จะอยู่เคียงข้างเราจริงๆ

 


 

Kotaro Lives Alone

 

หลายครั้งที่เราพยายามจะสื่อความรู้สึกของตัวเองออกไปให้ใครอีกคนได้รับรู้ ก็ไม่ได้หมายความว่าใครคนนั้นจะเปิดรับและเข้าใจความรู้สึกของเราเสมอไป 

 

เช่นเดียวกับเรื่องราวของโคทาโร่ที่พยายามจะสื่อความรู้สึกของตัวไปให้ถึงแม่ของตนเอง แต่แม่กลับเมินเฉยต่อความรู้สึกของเขาอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงพยายามจะตอบรับความรู้สึกของผู้อื่นอย่างจริงใจให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครต้องเผชิญกับความรู้สึกแบบเดียวกับตนเองอีก ขณะเดียวกัน โคทาโร่ก็กลายเป็นคนที่ไม่กล้าจะสื่อความรู้สึกของตนเองให้คนอื่นได้รับรู้เช่นเดียวกัน เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะเมินเฉยต่อความรู้สึกของเขาเช่นเดียวกับแม่

 

แต่ดูเหมือนว่าคนที่เข้ามาช่วยคลี่คลายปมในใจให้กับโคทาโร่ในครั้งนี้คือคาริโนะ ที่มาช่วยโคทาโร่ฝึกซ้อมการเล่นดอจบอล ที่เขาเปรียบเทียบการขว้างลูกบอลเป็นเหมือนการสื่อความรู้สึกว่า หากเราเลือกที่จะไม่ขว้างลูกบอล มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่หากเราเลือกที่จะขว้างลูกออกไป อย่างน้อยที่สุดอีกฝ่ายก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของเราอย่างแน่นอน แม้อีกฝ่ายจะไม่ตอบกลับมาก็ตาม  

 

“คุณพูดไม่ใช่เหรอว่าลูกบอลก็เหมือนคำพูด ถ้าเราต้องขว้างลูกบอลให้ใครสักคนที่ไม่ตั้งใจรับ มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดไม่ใช่เหรอ”

 

“จริงอยู่ว่ามันอาจจะเจ็บปวด แต่ถ้าเธอไม่ขว้างลูกบอลออกไป แล้วจะมีคนเข้าใจได้อย่างไร ฉันไม่เข้าใจสถานการณ์เธอหรอก แต่ถ้าเธอขว้างลูกบอลออกไป ฉันว่าต้องมีคนรับแน่ แม้ว่าคนคนนั้นจะไม่ขว้างกลับมาก็ตาม”

 


 

Kotaro Lives Alone

 

เพราะโคทาโร่ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง เขาจึงต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อที่จะไม่ให้ใครมาคอยดูแล พร้อมกับความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้กลับไปหาพ่อของเขาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้พ่อต้องทำตัวแย่ๆ อีก เพราะเขาคิดว่าสาเหตุที่พ่อต้องกลายเป็นคนไม่ดี เป็นเพราะตัวเขาที่เป็นคนอ่อนแอและไม่สามารถช่วยเหลือพ่อได้ ซึ่งคาริโนะที่มองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของโคทาโร่ เขาจึงเสนอตัวว่าจะเป็นคู่แข่งของเขา เพื่อหวังว่าจะช่วยทำให้โคทาโร่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

 

“นี่แสดงว่าเธอแอบออกกำลังกายคนเดียวใช่ไหมเนี่ย”

 

“ใช่แล้ว ถ้ากระผมทำทุกอย่างเองได้ ก็เท่ากับเข้มแข็งขึ้น ”

 

“แล้วรู้ไหม มันอาจจะง่ายขึ้นมาก เธออาจจะเข้มแข็งเร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าหากว่ามีคู่แข่งนะ ขนาดว่าตอนนี้ฉันยังไม่ออกกำลังกาย ฉันยังวิ่งได้ไกลเท่านี้เลย เพราะฉะนั้น เรามาเข้มแข็งไปด้วยกันเถอะ” 

 

แม้ว่าสิ่งที่คาริโนะกำลังทำนั้นอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของโคทาโร่ที่คิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อของเขากลายเป็นคนไม่ดีก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เขาไม่ปล่อยให้โคทาโร่ต้องพยายามทำตัวเข้มแข็งเพียงลำพัง ก็อาจจะช่วยให้โคทาโร่ค่อยๆ เติบโตเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้นอย่างที่เขาคาดหวัง

 

“จนกว่าเขาจะรู้ว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขาคิด ก็อยากให้เขาเข้มแข็งขึ้นทีละนิด ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือว่าจิตใจ เขาจะได้เอาชนะอุปสรรคที่เข้ามาได้”

 


 

Kotaro Lives Alone

 

แม้ว่าโคทาโร่จะพยายามฝึกฝนให้ตนเองเข้มแข็งขนาดไหน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเข้มแข็งเสมอไป เช่นเดียวกับเรื่องราวตอนหนึ่ง เมื่อโคทาโร่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นหวัด แต่เขาก็เลือกที่จะไปโรงเรียนและพยายามทำตัวเป็นปกติ เพื่อไม่ให้คนอื่นคิดว่าเขาเป็นคนอ่อนแอ ซึ่งแม้ว่าคุณครูหรือคาริโนะจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาไปพักผ่อนขนาดไหน โคทาโร่ก็ไม่ยอมไปห้องพยาบาลเสียที

 

จนกระทั่ง เคย์ เพื่อนร่วมห้องที่ร่างกายอ่อนแอ เริ่มรู้สึกว่าตนเองจะไม่สบาย เขาจึงเดินไปบอกคุณครูให้พาไปห้องพยาบาล จึงทำให้โคทาโร่สงสัยว่าทำไมเคย์ถึงยอมรับความอ่อนแอของตัวเองได้อย่างไม่กังวล

 

“ที่จริงฉันก็อยากจะอยู่เล่นกับเพื่อนๆ หรอกนะ แต่ว่าร่างกายฉันดันอ่อนแอกว่าเพื่อนๆ คนอื่นก็เลยติดหวัดง่าย สำหรับฉันสิ่งที่แย่กว่าการไม่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ก็คือฉันอาจจะเอาเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับเพื่อนๆ ไง เพราะฉะนั้นฉันก็เลยพยายามจะไม่เล่นกับเพื่อนๆ”

 

จากคำพูดของเคย์ประโยคนี้ จึงทำให้โคทาโร่เข้าใจว่า การยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป เพราะเราทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องทำตัวเข้มแข็งตลอดเวลา ไม่เพียงเท่านั้น ความอ่อนแอก็ทำให้เราเห็นว่ายังมีคนรอบข้างที่คอยเป็นห่วงอยู่เช่นเดียวกัน 

 

“ขออภัยที่เมื่อกี้เรียกท่านว่าอ่อนแอ เพราะท่านเคย์เป็นคนเข้มแข็งมาก”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X