×

กมธ.การปกครอง จี้มหาดไทย วางนโยบายปราบผู้มีอิทธิพลให้ชัด ชมชาดามีสปิริต เป็นมิติใหม่การเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2023
  • LOADING...
กรวีร์ ปริศนานันทกุล

วันนี้ (25 ตุลาคม) กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดอ่างทอง ในฐานะประธานกรรมาธิการการปกครองกล่าวถึงผลการประชุมกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาศึกษามาตรการจัดระเบียบสังคมและการปราบปรามผู้มีอิทธิพลว่า วันนี้มีการประชุมและได้ติดตามเรื่องของนโยบายการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงมหาดไทย โดยได้เชิญ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งเป็น 2 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล 

 

กรวีร์กล่าวขอบคุณชาดาที่ให้เกียรติกับฝ่ายนิติบัญญัติมาให้ข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดต่างๆ กับทางสมาชิกในกรรมาธิการการปกครอง ซึ่งสาระสำคัญที่ได้มีการพูดคุยและติดตามในวันนี้ คือแนวทางนโยบายที่เห็นตรงกันว่า อยากเห็นสังคมเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้มีผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจหน้าที่ ใช้ตำแหน่ง มาทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบและมารังแกประชาชน 

 

ส่วนความคืบหน้าแนวทางหลังจากที่ได้รับนโยบายจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการและได้มอบหมายให้ชาดาเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการนั้น ตัวแทนของทางอธิบดีกรมการปกครองแจ้งว่าได้ส่งหนังสือและแจ้งให้แต่ละจังหวัดส่งรายชื่อคัดกรองผู้ที่มีอิทธิพลจากทั่วทั้งประเทศ กลับมาที่กระทรวงมหาดไทย พบว่าในส่วนของพื้นที่สีเขียวคือไม่มีผู้มีอิทธิพลเลย ทั้งสิ้น 10 จังหวัด แต่ไม่ได้บอกชื่อว่ามีจังหวัดใดบ้าง เพราะเป็นความลับของทางราชการ  

 

ส่วนจังหวัดที่เป็นสีเหลืองจำนวน 66 จังหวัด รวม 84 อำเภอ มีกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายที่มีอิทธิพลทั้งสิ้น 805 รายชื่อ ซึ่งใน 805 รายชื่อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 180 รายชื่อ คือกลุ่มที่มีอิทธิพลที่อยู่ในกลุ่มสีแดง ซึ่งหมายความว่ายังมีพฤติกรรมที่ยังใช้อิทธิพลในพื้นที่อยู่ ส่วน 625 คนเป็นผู้ที่เคยมีอิทธิพล แต่ตอนนี้หยุดแล้วและไม่ได้มีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจข่มเหงรังแกพี่น้องประชาชนแล้ว พร้อมย้ำว่าแม้จะหยุดแล้วแต่ก็เป็นรายชื่อที่ทางกรมการปกครองได้ติดตามและเฝ้าดูพฤติกรรมอยู่อย่างใกล้ชิด 

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ขอคำจำกัดความ ‘ผู้มีอิทธิพล’ ของกระทรวงมหาดไทยที่จะดำเนินการนั้น คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำหรือสั่งการให้กระทำที่มีการละเมิดกฎหมาย ใช้อำนาจทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม หรือปัจจัยอื่นๆ ไปกดขี่ข่มเหง ประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าทางกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน 

 

ทางกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า การทำความผิดกฎหมายนั้นมีทั้งสิ้น 16 มูลฐาน แต่การกระทำความผิดนั้น อยากให้เข้าใจว่าไม่ใช่ว่าทุกคนที่กระทำความผิดทั้ง 16 มูลฐานจะต้องเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งหมด ใครที่ทำผิดกฎหมายก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการใช้อำนาจข่มเหงรังแกประชาชนและกระทำความผิดกฎหมายจึงจะเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล

 

กรวีร์กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ทราบรายชื่อผู้มีอิทธิพลแล้วนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการอย่างไรกับ 180 รายชื่อผู้มีอิทธิพลต่อไป ทางรัฐมนตรีแจ้งว่า เพิ่งได้มีการตั้งคณะทำงานในระยะเวลาไม่นาน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการแรก คือการคัดกรองและรวบรวมรายชื่อของผู้ที่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ขั้นตอนต่อไปจะเป็นนโยบายจากฝ่ายบริหารว่าจะมีแนวทางอย่างไร 

 

ส่วนแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะใช้วิธีการจับกุมปราบปราม ไปพูดคุยให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางที่กรรมาธิการจะต้องติดตามต่อไป ได้มีการขอข้อมูลจากกรมการปกครอง หลังได้รับนโยบายมาแล้วให้แจ้งกลับมาที่คณะกรรมาธิการอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชน เมื่อได้ทราบว่าผู้มีอิทธิพลมีพฤติกรรมอย่างไร รู้ว่าอยู่ที่ไหน ที่จะไม่ให้เขาใช้อำนาจเหล่านั้นมารังแกพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเน้นย้ำผ่านที่ประชุมไปว่า การทำรายชื่อจะต้องมีความเป็นธรรม ตนเองไม่อยากเห็นการใช้อำนาจหน้าที่จากฝ่ายปกครองไปกลั่นแกล้งโดยเฉพาะการกลั่นแกล้งทางการเมือง  

 

รวมถึงได้ถามถึงการติดตามและการประเมินผล หลังจากที่ทราบแล้วว่ารายชื่อผู้มีอิทธิพลนั้นเป็นใคร และได้ทราบนโยบาย จะมีวิธีการประเมินอย่างไรว่าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว โดยทางกระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ หากมีการเรียกให้ กมธ.การปกครอง เข้ามาชี้แจง ไม่ต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าการทำนโยบายดังกล่าวสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร  

 

ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมาธิการยังได้ร้องขอให้เปิดช่องทางสำหรับประชาชนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ในการแจ้งเบาะแส ผู้ที่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล และสามารถแจ้งข่าวให้กับหน่วยงานราชการทราบได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยเบื้องต้นให้ใช้ผ่านศูนย์ดำรงธรรมไปก่อน 

 

ส่วนการจับกุมลูกเขยชาดานั้น กรวีร์กล่าวว่า ทางกรมการปกครองได้ชี้แจงว่าการจับกุมกรณีลูกเขยของชาดาเมื่อวานนี้อาจต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งอาจมีการกระทำความผิดกฎหมายจริง แต่ก็ต้องดูว่าการทำผิดกฎหมายนั้นเข้าข่ายการใช้อำนาจหน้าที่ในการคุกคามรังแกประชาชนหรือไม่ หากไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการรังแกหรือข่มเหงประชาชนก็จะไม่ได้อยู่ในข่ายของผู้ที่มีอิทธิพล ในทางความหมายของกระทรวงมหาดไทย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการสอบถามชาดาหรือไม่ กรวีร์กล่าวว่า ต้องชื่นชมสปิริตของชาดา เพราะตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นมิติใหม่ทางการเมือง พอเวลาที่หลายคนตั้งคำถามว่า ชาดามาปราบปรามผู้มีอิทธิพลแล้วจะทำได้จริงหรือ วันนี้ตนคิดว่าพี่น้องทั้งประเทศคงจะได้คำตอบ เพราะแม้กระทั่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนใกล้ชิดกับรัฐมนตรีโดยตรงก็ไม่ได้รับการละเว้นหรือได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้มีการกำชับกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานทั้งหมดว่าไม่ต้องเกรงใจ สามารถดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทั้งหมดได้

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ประชุม กมธ. ในสัปดาห์หน้าหรือไม่ กรวีร์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นช่วงปิดสมัยประชุมคงไม่ได้มีการประชุม กมธ. แต่เราได้ตั้งทีมงานเพื่อติดตามและนำข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งมาให้ กมธ. อย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X