×

ถูกทางแต่ไม่พอ ‘กรณ์’ ขอ ครม. ปรับเกณฑ์เยียวยา ยึดตัวเลขและความเป็นจริง ห่วงเปิดประเทศไม่ได้ใน 120 วัน หากไม่เพิ่มการฉีดวัคซีน

โดย THE STANDARD TEAM
29.06.2021
  • LOADING...
120 วันเปิดประเทศ

วานนี้ (28 มิถุนายน) กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นแตะเกือบ 5,000 รายต่อวัน ในขณะที่มีผู้หายป่วยออกจากโรงพยาบาลมีจำนวนประมาณ 3,000 ราย นั่นหมายความว่าจำนวนเตียงที่ว่างติดลบไปถึง 2,000 เตียง พรรคกล้าและอีกหลายๆ องค์กรที่ได้พยายามเป็นผู้ประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยทราบดีว่ามีความยากลำบากมาก โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายครอบครัวต้องเป็นทุกข์กับการรอเตียง

 

กรณ์กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ทำให้เราสัมผัสได้ว่าจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ และทัศนคติที่มีต่อไวรัส แน่นอนว่าคำตอบสุดท้ายคือการฉีดวัคซีน ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน 250,000 เข็มต่อวัน ซึ่งเท่ากับ 7.5 ล้านเข็มต่อเดือน และภายในสิ้นปีก็จะฉีดได้ประมาณ 40 ล้านเข็ม เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่จะไปให้ถึง 100 ล้านเข็มจึงยังห่างไกล ต้องปรับการฉีดให้ได้วันละ 500,000 เข็มจึงจะเข้าเป้าและครอบคลุม นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วงคือการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ซึ่งหมายความว่าภายใน 4 เดือน ประชาชนคนไทยจะต้องเข้าถึงวัคซีนได้แล้ว 70% แต่หากยังฉีดกันในจำนวน 250,000 เข็มต่อวัน ไม่มีทางทันแน่นอน วันนี้รัฐบาลจึงต้องประเมินตามสถานการณ์ความเป็นจริง หากไม่ยอมรับความจริงก็จะไม่สามารถเตรียมมาตรการได้ทัน และจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา หากเราเปิดประเทศได้ช้า 

 

“หมดเวลาที่เราจะพยายามนำเสนอข่าวให้เข้าหูว่าเป็นข่าวดี แต่เป็นจังหวะที่ผู้นำต้องกล้าที่จะพูดความจริงกับประชาชน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเตรียมตัว ในส่วนของการฉีดวัคซีน ถ้าเราจะเปิดประเทศให้ได้ต้องฉีด 70% ของประชากร แต่อัตราที่ฉีดปัจจุบันไม่มีทางถึงแน่นอน และการฉีดเพียงเข็มเดียวก็ยังไม่สมควร ประเด็นที่ท้าทายคือ รัฐบาลจะบริหารจัดการให้เพียงพอและทันท่วงทีได้อย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น เตียงขาดแคลน ซึ่งเป็นภาวะที่หนักหนาสาหัสต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก เราจึงต้องมาปรับความคิดกัน แนวโน้มการทำมาหากินของคนไทยที่ต้องทนความยากลำบากกันไปอีกเท่าไร และจะต้องปรับตัวกันอย่างไรต่อสัญญาณที่รัฐบาลส่งออกมา” กรณ์กล่าว 

 

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าต้นตอการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมใต้ดิน และในส่วนของแคมป์คนงานก็เป็นเรื่องที่พวกเราได้ตักเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหลายเดือนว่าให้ระมัดระวังว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญ ซี่งหละหลวมมากในการตรวจสอบ ทางกรุงเทพมหานครควรต้องมาตรวจสอบเชิงรุกว่ามีใครอาศัยอยู่ในแคมป์บ้าง ห้ามเข้าออก ห้ามเปลี่ยนคนงาน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้มงวด จนทำให้กลายเป็นคลัสเตอร์การแพร่เชื้อ และการประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่รัฐประกาศออกมาล่าสุดก็สร้างความอึดอัดให้กับประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่เขารู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเพราะไม่ใช่ความผิดเขาที่ระวังตัวกันมาตลอด แต่ต้องมารับเคราะห์กรรมจากมาตรการที่ทำให้เขาขาดรายได้อีกรอบ และเป็นการประกาศอย่างฉับพลัน ทำให้ร้านค้า ร้านอาหารตั้งตัวแทบไม่ติด เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม

 

กรณ์ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเริ่มมีนโยบายที่เข้าเป้า พรรคกล้าเรียกร้องมาโดยตลอดโดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร วันนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ที่ 7,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นงบจากกองทุนประกันสังคมที่มีผู้ประกันตนอยู่เกือบเจ็ดแสนคน ตามกฎหมาย โดยกำหนดให้พวกเขาได้รับสิทธิชดเชยรายได้ 50% ชดเชยรายได้สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท รวมถึงการจัดสรรเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพิ่มเติมให้รายละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายให้แค่ครั้งเดียวและเดือนเดียว นอกจากนี้รัฐจะเยียวยาให้ผู้ประกอบการเพิ่มเติมตามรายหัวลูกจ้าง โดยคำนวณตามสูตร ลูกจ้างจะได้รับเยียวยา 3,000 บาท เพดานสูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือไม่เกิน 600,000 บาทต่อกิจการ เพื่อผ่อนหนักเป็นเบาในแง่ภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะเป้าหมาหมายหลักที่เราเรียกร้องคือ SMEs ผู้ประกอบการรายเล็ก ก็มีลูกจ้างแค่หลักหน่วยหลักสิบ เพดานดังกล่าวน่าจะครอบคลุมได้ทั้งหมด

 

“นโยบายลักษณะนี้มาถูกทาง แต่ไม่น่าเพียงพอสำหรับลูกจ้าง การได้รับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคมสูงสุด 7,500 บาท และเมื่อร่วมกับเงินสมทบทุนอีก 2,000 บาท หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ก็ยังต่ำกว่าครึ่ง ไม่น่าเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องมี และยิ่งมาตรการที่ประกาศให้เพียงแค่ 1 เดือน ยิ่งทำให้ผู้ประกันตนมีความกังวลว่าเมื่อพ้นเดือนไปแล้วเขาจะอยู่อย่างไร” กรณ์ระบุ 

 

กรณ์ระบุในเฟซบุ๊กต่อไปว่า ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่พิจารณาเรื่องนี้ว่า ขอให้ขยายวงเงินและขยายเวลาในการช่วยเหลือ โดยวงเงินสมทบที่เหมาะสมคือ 5,000 บาท บวกกับเงินชดเชยรายได้สูงสุด 7,500 บาทก็จะเป็นเงิน 12,500 บาท ก็น่าจะพอประทังชีวิตให้กับครอบครัวช่วงนี้ ผมคำนวณแล้วในแง่ภาระต่องบประมาณของรัฐเป็นวงเงินที่น่าจะแบกรับไว้ได้ เพราะวงเงินที่รัฐจัดสรรไว้เพื่อการชดเชยให้ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการโดยรวมมีเพียงแค่ประมาณ 4 พันล้านบาท งบที่รัฐบาลประกาศไว้รวมกับกองทุนประกันสังคมเป็นเงิน 7.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับกู้เงิน 5 แสนล้านบาท มันน้อยมาก นี่คือวิธีการที่จะเยียวยาที่ถูกจุด ตรงเป้าที่สุด และต้องขยายเวลาไปเป็น 3 เดือน และถ้าเป็นไปอย่างที่ผมเสนอขยายวงเงินจาก 2,000 เป็น 5,000 บาท รัฐจะต้องจัดสรรเงินเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาทต่อเดือน ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาทจาก 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจในมือที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ และจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อในรอบปัจจุบันแต่ต้องมารับเคราะห์แทน

 

กรณ์ยังกล่าวถึงภาพยาวที่รัฐบาลต้องเตรียมการไว้เพิ่มเติมสำหรับการเยียวยาพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการ คือเท่าที่ดูสถานการณ์ โอกาสที่เราจะอยู่สถานภาพที่จะเปิดประเทศได้ใน 120 วัน อย่างเก่งคือ 50:50 อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าโอกาสจะไปอยู่ที่ในจุดนั้นน้อยมาก และหากวัคซีนมาช้า ภายในสิ้นปีก็อาจไม่ทัน และอาจทอดยาวถึงต้นปี หรืออาจจะถึงกลางปีหน้า เราต้องอดทนไปนานถึง 6 เดือน ถ้าโชคร้ายก็เป็นปี ในสถานการณ์ที่เป็นจริงเช่นนี้ รัฐบาลมีมาตรการอะไรเพื่อที่ประชาชนจะคลายความกังวลและสบายใจในการต่อสู้ได้บ้าง งบประมาณ 5 แสนล้านบาทต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเพียงพอในระดับที่มีความน่าเชื่อถือ ต้องคิดให้รอบด้านเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนว่ารัฐคิดเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ที่อาจเลวร้าย จังหวะนี้การเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริง เรื่องของการสื่อสาร เรื่องของแนวโน้มโอกาส และการเตรียมมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

นอกจากนี้กรณ์ยังได้หยิบยกข้อเสนอ 5 ข้อ ที่พรรคกล้าได้เคยนำเสนอไปแล้วเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1. ควรเร่งเจรจากับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกินร้อยละ 15 อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน 

 

2. รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้าง-เงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้ ร้อยละ 50 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหาร 

 

3. งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง

 

4. ผ่อนผันการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน 

 

5. ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อยร้อยละ 50 และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้นไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน

 

“อยากฝากบอกว่า พรรคกล้าเราจะติดตามและเสนอแนะรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เราเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็น เสนอแนะวิธีการที่จะช่วยให้เขาอยู่รอดได้ มีวิธีใดได้บ้าง บางส่วนก็นำไปสู่การปฏิบัติ บางส่วนก็ยังไม่ได้ทำ” กรณ์กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X