ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 31% ในปี 2563 ที่ผ่านมา รับอานิสงส์เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียเหนือ และ Emerging Market โดยกลุ่มที่ได้รับสปอตไลต์มากสุดคือกลุ่มธุรกิจ New Economy ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และเฮลท์แคร์
รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นมากในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นราว 31% สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองแค่ตลาดหุ้นไนจีเรียเท่านั้น และถ้าดูเฉพาะปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ดัชนี KOSPI ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 5% โดยมีนักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อสุทธิราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความโดดเด่นของตลาดหุ้นเกาหลีคือ มีหุ้นในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตการณ์โรคระบาดค่อนข้างเยอะ อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Semi-Conductor) และกลุ่มเฮลท์แคร์ ทั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มีสัดส่วนต่อดัชนีถึง 30%
นอกจากนี้เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีข่าวดีเรื่องความร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าระหว่างเครือ Hyundai และ Apple ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งได้แรงสนับสนุนจากนโยบายของ โจ ไบเดน อีกด้วย
รัฐศรัณย์ กล่าวว่า หากประเมิน Valuation อ้างอิงจากมอร์แกน สแตนลีย์ ประเมิน Forward PE ของตลาดหุ้นเกาหลีที่ 13.1 เท่า ขณะที่กำไรปี 2564 ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 42.2% และให้เป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ 3,250 จุด เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ได้รับคาดการณ์ Forward PE ที่ 19.2 เท่า กับกำไร บจ. เติบโต 36% แล้วก็นับว่าตลาดหุ้นเกาหลีน่าสนใจเข้าลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว แนะนำให้ศึกษาการลงทุนใน ETF ดัชนี KOSPI ประกอบด้วย EWY (Ishares Msci South Korea ETF) ซึ่งเป็น ETF ดัชนีเกาหลีที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมูลค่าสินทรัพย์ราว 1.5 แสนล้านบาท ออกโดย BlackRock
และ ETF 3170 (iShares Core KOSPI 200 ETF) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ออกโดย BlackRock เช่นกัน แต่มีปัจจัยต้องระวังคือมูลค่าสินทรัพย์ค่อนข้างเล็ก
อย่างไรก็ตาม สำหรับธีมการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ในระยะยาว บล. บัวหลวง ยังชื่นชอบหุ้นเทคฯ จีนเช่นเดิม เนื่องจากเทคฯ จีน มีหลากหลายบริษัทกว่า และแต่ละบริษัทก็มีขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักระดับโลก แม้หุ้นเทคฯ จีนจะมีประเด็นน่ากังวลระยะสั้น คือนโยบายของสหรัฐและกฎระเบียบในการควบคุม Financial Technology ของทางการจีนที่มีการ Re-considering
วิน พรมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. พรินซิเพิล กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นในเอเชียเหนือ (จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง) ปัจจัยหนุนมาจากเงินทุนที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี และพลังงานหมุนเวียน
ทั้งนี้ในตลาดหุ้นเอเชียเหนือมีหุ้นเทคโนโลยีและพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนต่อน้ำหนักดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุน ดัชนีโดยรวมก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยดัชนี KOSPI ปรับเพิ่มขึ้น 30.75% ในปี 2563 โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 ดัชนีปรับขึ้นถึง 14% และ 10% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากแล้ว จึงแนะนำนักลงทุนให้รอจังหวะการปรับฐานของดัชนีค่อนเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลี
ทั้งนี้ บลจ. พรินซิเพิล จำกัด มีกองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้ ซึ่งลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน CIMB-Principal Asia Pacific Dynamic Income Fund ที่จดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย โดยให้ผลตอบแทนในอัตรา 23% ในปี 2563 และต้นปีถึงปัจจุบันปรับเพิ่มมา 3.5%
สำรวจข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์กองทุนหุ้นที่ลงทุนในเกาหลีเป็นหลัก พบว่าผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี มากกว่า 40% โดยพอร์ตฟอลิโอของกองทุนคือกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสื่อสาร และกลุ่ม Consumer Cyclical
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: