บรรยากาศในคาบสมุทรเกาหลีเป็นไปอย่างตึงเครียดตั้งแต่เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) จนถึงวันนี้ (3 พฤศจิกายน) หลังเกาหลีเหนือระดมยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้และไกลหลากหลายประเภทอย่างน้อย 26 ลูกตกใส่น่านน้ำสากลทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเกาหลีใต้ และมี 1 ลูกตกลงใกล้กับน่านน้ำเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สองเกาหลีแบ่งแยกประเทศหลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดในปี 1953
ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประณามการยิงขีปนาวุธที่ตกใกล้กับพรมแดนทางทะเลของเกาหลีใต้ว่าเป็นการรุกล้ำดินแดน
ขณะที่คณะเสนาธิการร่วม (Joint Chiefs of Staff: JCS) ของเกาหลีใต้ เผยว่า กองทัพได้ตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นจำนวน 3 ลูกตกลงในน่านน้ำนอกชายฝั่งเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดียุนที่ต้องการให้เปียงยางชดใช้ต่อท่าทียั่วยุอย่างรุนแรงครั้งนี้
สถานการณ์ที่กำลังปะทุเดือดในคาบสมุทรเกาหลีรอบนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองด้วยความกังวลว่า เหตุการณ์อาจ ‘ยกระดับ’ กลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงซ้ำเติมอุณหภูมิการเมืองโลก ที่ตอนนี้ความขัดแย้งใหญ่อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย
และนี่คือการสรุปภาพรวมเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น
💥 ทำไมเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ 💥
- ท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลเปียงยางออกมาเตือนเรื่องการซ้อมรบร่วมทางอากาศระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อรหัส ‘พายุเฝ้าระวัง (Vigilant Storm)’ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 ตุลาคม) และมีกำหนดการต่อเนื่องจนถึงวันศุกร์ (4 พฤศจิกายน) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการซ้อมรบร่วมทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย และมีอากาศยานกองทัพเข้าร่วมกว่า 380 ลำ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35B โดยเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางอากาศที่เกาหลีเหนือมองว่า ‘ล้ำเส้น’ และเป็นการฝึกซ้อมเพื่อโจมตีเกาหลีเหนือ
- พัคจงชุน เลขาธิการพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ กล่าวเมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) ว่า จำนวนเครื่องบินรบที่เข้าร่วมทั้งหมดนั้นเป็นข้อพิสูจน์ว่า การฝึกซ้อมรบร่วมดังกล่าวระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าที ‘ก้าวร้าวและยั่วยุ’ และชี้ว่า แม้แต่ชื่อรหัสยังเลียนแบบปฏิบัติการ ‘พายุทะเลทราย (Desert Storm)’ ที่สหรัฐฯ นำทัพบุกโจมตีอิรักในช่วงสงครามอ่าวปี 1990
- ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ยืนยันว่า การซ้อมรบทางอากาศดังกล่าวมีลักษณะเป็นการฝึกป้องกัน และไม่ได้วางแผนที่จะโจมตีเกาหลีเหนือแต่อย่างใด
💥 ผลกระทบจากการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ 💥
- ในวันที่ 2 พฤศจิกายน เกาหลีเหนือระดมยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อย่างน้อย 23 ลูกตกลงในพื้นที่น่านน้ำสากล ใกล้พรมแดนทางทะเลบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเกาหลีใต้ โดยแบ่งเป็นการยิงในช่วงเช้า 17 ลูก และช่วงเย็น 6 ลูก
- ขีปนาวุธที่ใช้ยิงนั้นมีหลากหลายประเภทตั้งแต่ขีปนาวุธแบบวิถีโค้ง (Ballistic Missile) และขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นสู่อากาศ (Surface-to-Air Missile)
- หนึ่งในขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบทิ้งตัวถูกยิงตกลงในน่านน้ำสากล ห่างชายฝั่งเมืองซกโช จังหวัดคังวอนของเกาหลีใต้ เพียงประมาณ 57 กิโลเมตร และอีกลูกตกลงห่างเกาะอุลอึงราว 167 กิโลเมตร ส่วนอีกลูกหนึ่งตกห่างจากแนวจำกัดตอนเหนือ (North Limit Line: NLL) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตที่ยังเป็นกรณีพิพาทในทะเลเหลืองระหว่างสองเกาหลี เพียงประมาณ 26 กิโลเมตร และอีกลูกตกลงในน่านน้ำนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่น
- นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังยิงกระสุนปืนใหญ่ 100 นัดลงในน่านน้ำบริเวณเขตกันชนทางทะเลตะวันออกที่ทั้งสองเกาหลีร่วมกันสร้างขึ้นในปี 2018
- ทางด้านเกาหลีใต้ได้ประกาศเตือนภัยทางอากาศหลังเกิดเหตุ ก่อนที่จะยกเลิกในภายหลัง และประกาศปิดเส้นทางเที่ยวบินบริเวณน่านน้ำฝั่งตะวันออก
- ช่วงสายวานนี้กองทัพเกาหลีใต้ได้ตอบโต้เกาหลีเหนือ โดยส่งเครื่องบินขับไล่ปล่อยขีปนาวุธนำวิถีจากอากาศสู่พื้นจำนวน 3 ลูก ตกลงห่างเส้นแบ่ง NLL ในระยะ 26 กิโลเมตรเช่นกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดียุนที่แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้นั้นจะไม่อ่อนข้อให้กับการยั่วยุของเกาหลีเหนือ และเตรียมความพร้อมที่จะเอาชนะหากมีการปะทะกันเกิดขึ้น
- สำหรับเช้าวันนี้ (3 พฤศจิกายน) เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธแบบวิถีโค้ง 3 ลูก แบ่งเป็นแบบพิสัยโจมตีระยะใกล้ 2 ลูก และแบบระยะไกล 1 ลูก ซึ่งยิงจากบริเวณพื้นที่กรุงเปียงยาง
- แหล่งข่าวในรัฐบาลโซลคาดการณ์ว่า ขีปนาวุธระยะไกลที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบนั้นเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile: ICBM) แบบ Hwasong-17 แต่การทดสอบไม่เป็นไปตามที่เปียงยางคาดหวัง แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการยิงขึ้นไปถึงระดับความสูงกว่า 2,000 กิโลเมตร และแยกตัวขั้นที่ 2 ได้ แต่ก็ล้มเหลวและตกลงในทะเล บริเวณน่านน้ำระหว่างคาบสมุทรเกาหลีกับญี่ปุ่น
- ด้านคณะเสนาธิการร่วมออกแถลงการณ์ล่าสุดระบุว่า การยิงขีปนาวุธซ้ำเป็นวันที่สองของเปียงยางนั้นเป็นการยั่วยุอย่างร้ายแรง และส่งผลเสียต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ในคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาคมระหว่างประเทศ
💥 สัญญาณภัยคุกคามนิวเคลียร์ 💥
- เมื่อวันอังคาร (1 พฤศจิกายน) หลังรัฐบาลเปียงยางส่งข้อความเรียกร้องให้สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ หยุดซ้อมรบทางอากาศ กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือได้ประกาศเตือนว่า ทั้งสองประเทศจะต้องชดใช้ในราคาที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งคล้ายเป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับภัยคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และหากยังคงมีการก่อกวนจากท่าทีของทั้งสองประเทศ เกาหลีเหนืออาจต้องพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ที่ทรงพลังมากขึ้น
- ตลอดปีมานี้เกาหลีเหนือได้ทดสอบอาวุธและขีปนาวุธเป็นจำนวนมาก โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คิมจองอึน ผู้นำสูงสุด ได้ร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมอาวุธ ซึ่งรวมถึงการทดสอบยิงขีปนาวุธแบบวิถีโค้งที่ติดหัวรบนิวเคลียร์จำลอง โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี สื่อกระบอกเสียงของเปียงยาง รายงานว่า เป็นการฝึกซ้อมเพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามสงคราม
- ด้านทางการสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ อ้างว่า เปียงยางกำลังเตรียมการเพื่อที่จะดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 7 และเป็นครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 2017
- โดยเกาหลีเหนือยังได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้มีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเอง และยึดจุดยืนของตนในฐานะมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
💥 ท่าทีผู้นำโลก 💥
- ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ประณามอย่างรุนแรงต่อการยิงขีปนาวุธต่อเนื่องตลอด 2 วันของเกาหลีเหนือ โดยประธานาธิบดียุนได้สั่งการให้กองทัพใช้ทุกความพยายามในการรักษาท่าทีป้องกันร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากการยั่วยุของเปียงยางที่ทวีความรุนแรงขึ้น
- ขณะที่นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ประณามการยิงขีปนาวุธวันต่อวันของเกาหลีเหนือว่าเป็นความก้าวร้าวที่ญี่ปุ่นไม่อาจทนได้
- ด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อสายตรงคุยกับ พัคจิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งคู่ได้กล่าวประณามการขยายความตึงเครียดด้วยการยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ และมีลูกหนึ่งที่ตกไม่ไกลจากแนวชายฝั่งเกาหลีใต้ โดยระบุว่า เป็นการยั่วยุทางทหารที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
- แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า บลิงเคนได้บอกกับพัคว่า สหรัฐฯ จะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับประกันความปลอดภัยของชาติพันธมิตร และจะยังคงพยายามจำกัดความสามารถของเกาหลีเหนือในการเดินหน้าพัฒนาโครงการขีปนาวุธและอาวุธทำลายล้างสูง
- นอกจากนี้ภายหลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ 23 ลูกเมื่อวานนี้ รัฐบาลวอชิงตันยังได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า แอบจัดส่งกระสุนปืนใหญ่ให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในสงครามบุกยูเครน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลเปียงยางจะยืนกรานปฏิเสธแผนจัดส่งอาวุธแก่รัสเซีย
- โดย จอห์น เคอร์บี โฆษกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ชี้ว่า เกาหลีเหนือพยายามปกปิดปลายทางของการจัดส่งกระสุนปืนใหญ่ดังกล่าว โดยทำให้ดูเหมือนว่ากำลังจะส่งไปตะวันออกกลางหรือแอฟริกาเหนือ แต่แท้จริงแล้วกลับส่งไปให้แก่กองทัพรัสเซีย
ภาพ: Jung Yeonje / AFP
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/space-launches-united-states-seoul-europe-north-korea-9683ee74c60b9bc132e4f342a66a9c39
- https://www.channelnewsasia.com/asia/north-korea-fires-missile-across-border-south-korea-northern-limit-line-3038811
- https://indianexpress.com/article/explained/korea-vs-korea-what-the-missile-attacks-mean-8245701/
- https://www.stuff.co.nz/national/explained/300730026/what-does-north-koreas-missile-barrage-mean-for-the-world
- https://edition.cnn.com/2022/11/01/asia/north-korea-missiles-wednesday-intl-hnk/index.html
- https://apnews.com/article/seoul-south-korea-north-joint-chiefs-of-staff-government-and-politics-7d6079c606fe796dc4771fa48b9c2bfe
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_North_Korean_missile_tests
- https://www.reuters.com/world/blinken-park-condemn-north-koreas-ballistic-missile-launches-us-state-dept-2022-11-02/