‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ ละครไทยสะท้อนสังคม ฝีมือการเขียนบทละครโทรทัศน์ของ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ จาก บุพเพสันนิวาส กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ที่กำลังจะต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญ เมื่ออยู่ๆ วันหนึ่ง ลูกสาวคนโตของครอบครัวได้เอ่ยปากบอกกับ ‘อรดี’ ผู้เป็นแม่ว่า “พ่อข่มขืนหนู” ประโยคเพียงไม่กี่คำ แต่สำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง มันไม่ต่างจากเข็มพิษที่เข้าไปทิ่มแทงหัวใจ แผลแรกในฐานะคนเป็นแม่ และแผลที่สองคือความเจ็บปวดในฐานะคนเป็นเมีย
แต่ท่ามกลางความรู้สึกเจ็บปวด ‘อรดี’ พยายามหาทางทำในสิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็พยายามหาหนทางเพื่อให้ ‘ลูกสาว’ ของเธอกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งควรจะเติบโต มีอนาคตต่อไปได้
ขณะเดียวกันเมื่อตัวละครพบกับปัญหาชีวิต ละครก็พยายามจะสอดแทรกเกร็ดความรู้แก่ผู้ชมอยู่เป็นระยะ โดยอาจารย์ศัลยาได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจเรื่องการเขียนบทละครเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ความแข็งแรงของครอบครัว แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น มันจำเป็นต้องมีปฐมเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งก่อน ที่ค่อนข้างรุนแรง จนทำให้ครอบครัวนี้ต้องลุกขึ้นฝ่าฝันปัญหาให้รอดพ้น เลยเลือกประเด็นนี้
“บางคนบอกว่ามันหดหู่ แต่ข่าวที่อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ มันก็ยังมีให้เห็นอยู่ แล้วมันก็จะมีมากขึ้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อก่อนไม่มี เพียงแต่เมื่อก่อนมันไม่ได้เป็นข่าว แล้วบอกได้เลยว่า ตั้งแต่เริ่มเขียนเรื่องนี้ ก็ได้ยินข่าวเรื่องพ่อทำร้ายลูกมาตลอด”
สำคัญที่สุดคือต่อให้บทละครเข้มข้นเพียงใด แต่ถ้าขาดนักแสดงฝีมือดีมาถ่ายทอด ละครก็อาจจะขาดมิติที่จะพาผู้ชมดิ่งลึกไปกับเนื้อหาสาระที่ตีแผ่ด้านมืดของสังคม ซึ่งต้องปรบมือให้กับ กวาง-กมลชนก เขมะโยธิน ที่ทำหน้าที่ของเธอในบทบาท ‘อรดี’ ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยอาจารย์ศัลยาได้กล่าวถึงนักแสดงหญิงผู้มาสวมบทบาทเป็น ‘ตัวละคร’ สำคัญที่อาจารย์เป็นผู้สร้างไว้ว่า
“คุยกับกวางอยู่เสมอ กวางบอกว่าอยากเล่นบทของพี่แดงมาก แต่ไม่มีโอกาสจนกระทั่งเรื่องนี้ กวางเขาก็อยู่ในสถานภาพที่เหมาะสมทุกอย่าง เป็นทั้งแม่ มีลูกเป็นวัยรุ่น สำคัญที่สุดคือ เรารู้ว่าเราเขียนไปมากแค่ไหน กวางเขาจะทำได้มากกว่านั้น เพราะกวางเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้กับอะไรทั้งสิ้น”
เช่นเดียวกันกับ กวาง กมลชนก ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับบทบาท ‘อังศุมาลิน’ จากละคร คู่กรรม ในเวอร์ชันปี 2533 ซึ่งเธอแสดงคู่กับ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ เวอร์ชันที่ได้รับการจดจำว่ายอดเยี่ยมและโด่งดังที่สุด ซึ่งผู้ที่รับหน้าที่เขียนบทละครในครั้งนั้นก็คือ แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการกลับมาสวมบทบาทเป็นตัวละครให้อาจารย์ศัลยาอีกครั้ง สำหรับเธอจึงเป็นความรู้สึกยอดเยี่ยม
“พอพี่แดงเขารู้สึกฟีลกู๊ดกับเรา เราเลยต้องทำให้ดีที่สุด ปกติเป็นคนที่พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดอยู่แล้ว และบทของพี่แดง มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาตลอด ตั้งแต่ละคร คู่กรรม แล้วค่ะ คู่กรรม เนี่ย บทยาว 8 หน้ากระดาษ พี่แดงเขียนมาให้เราเล่น พูดอยู่คนเดียว จนมาถึงเรื่องนี้ บทยาว 3 หน้ากระดาษ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก นางเอกของพี่แดงชอบพูดคนเดียว”
ถ้าติดตามละคร ‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ ผู้ชมจะได้เห็นการแก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์หรือละครสะท้อนสังคมในสมัยก่อน ยกตัวอย่าง กว่าจะรู้เดียงสา (2531) ที่สะท้อนถึงปัญหาวัยรุ่นทั้งประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาครอบครัว ภาวะท้องก่อนแต่งของวัยรุ่น รวมไปถึงปัญหายาเสพติด
เช่นเดียวกับภาพยนตร์ เสียดาย (2537) ที่เล่าถึงด้านมืดของวัยรุ่นไทยในยุคนั้น โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่ระบาดในหมู่วัยรุ่นวัยคะนองมาทุกยุคทุกสมัย หรือภาพยนตร์อีกเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2537) ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาครอบครัว ก่อนที่เรื่องราวที่ลุกลามไปสู่ปัญหาทางสังคมอย่างยาเสพติดและการค้ามนุษย์
ทุกเรื่องที่กล่าวมา เราต่างรู้ว่ามีอยู่จริงในสังคมไทย และนับวันนอกจากจะไม่เบาบาง ยังดูพัฒนาและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามความเจริญของโลก ฉะนั้นแล้วนอกจากจะปล่อยให้ละครสะท้อนภาพจริงของสังคม แต่ผู้ชมอย่างเราๆ นั้นควรจะนำไปสะท้อนตัวตนรวมไปถึงให้แนะนำกับคนในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างทันสมัย ทันโลก
สำหรับละคร ‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ อาจารย์ศัลยา การันตีว่าถ้าได้ติดตามเนื้อหาของละครจะมีทั้งมีรอยยิ้มและมีทั้งน้ำตา เพราะชีวิตคนเรานั้นมีขึ้นย่อมมีลง มีทุกข์ย่อมมีสุขสลับไป เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ฟ้ามืดมิดเพียงแต่ อย่างไรเสียอรุณก็จะรุ่งในไม่ช้า เช่นเดียวกับทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ตราบใดที่มีสติและรู้จักอดทนรอ ลงท้ายแล้วเราก็พบกับแสงสว่างในไม่ช้า
ติดตามชม ‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ ได้ทาง GMM25 ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.10 น.
ขอบคุณภาพจาก: pantip.com
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์