×

เอส-คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับอารมณ์ดีที่มีแนวคิดการมองโลกจากเพลงวิมานดิน เฉลียง ไปยาลใหญ่ และพันธุ์หมาบ้า

29.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • เอส คมกฤษ ชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก และมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนๆ อยู่เสมอคือการไปรวมตัวเพื่อฟังเพลงจากเทปม้วนใหม่ที่ใครสักคนเพิ่งซื้อมา
  • เพลงที่เอสชอบมากที่สุดคือ วิมานดิน ของ ตู่-นันทิดา แก้วบัวสาย ที่นอกจากความสวยงามและไพเราะของบทเพลงแล้ว เขายังเคยมีความฝังใจเมื่อได้สัมผัสมือศิลปินในดวงใจตอนอายุ 12 ปี แล้วรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นทันทีตั้งแต่ตอนนั้น
  • เพลงของวงเฉลียงคืออีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญที่ส่งผลกับแนวคิดในการมองโลกและการทำภาพยนตร์ของเขา
  • พันธุ์หมาบ้า และ ไปยาลใหญ่ คือหนังสือ 2 เล่มที่มีอิทธิพลกับเอสมากที่สุด
  • ตอนนี้เอสมีผลงานใหม่คือหนังสั้น 3 เรื่องจากโปรเจกต์ The Love Speech ที่มีโอกาสทำงานร่วมกับ GMM Grammy

ปี 2546 แฟนฉัน ลงจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และก่อกำเนิดผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงทั้ง 6 คนขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของ เอส-คมกฤษ ตรีวิมล รวมอยู่ด้วย

 

ต่อมาในปี 2548 เอสเป็นคนแรกในบรรดา 6 ผู้กำกับจากภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ที่ได้กำกับหนังเดี่ยวของตัวเอง ซึ่งก็คือ เพื่อนสนิท ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งด้านรายได้กว่า 80 ล้านบาททั่วประเทศ และเพลงประกอบภาพยนตร์ ช่างไม่รู้เลย ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง

 

หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพยนตร์ ละคร มิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์สั้น และตอนนี้ก็กำลังมีโปรเจกต์ร่วมกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ GMM Grammy ในชื่อว่า The Love Speech นำเสนอเรื่องราวคำพูดดีๆ 3 คำ ขอโทษ ขอบคุณ และไม่เป็นไร ผ่าน 3 บทเพลง 3 ภาพยนตร์สั้นที่ขับร้องโดย 25hours, Lomosonic และ Getsunova ภายใต้คอนเซปต์ ‘เมื่อเพลงสร้างหนัง และหนังสร้างเพลง’

 

แต่กว่าจะกลายมาเป็นผู้กำกับอารมณ์ดีในปัจจุบันนี้ก็มีเพลงและหนังสืออยู่จำนวนหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอมความคิด ทัศนคติ รวมถึงลักษณะนิสัยให้กลายเป็นเขาได้ในทุกวันนี้ ซึ่งเบ้าหลอมเหล่านั้นก็มีทั้งเพลงรักหวานซึ้งที่ขัดกับบุคลิกของเขาแบบสุดๆ บทเพลงอารมณ์ดีที่ให้แง่คิดมากมาย นอกจากนี้ยังมีหนังสือ ไปยาลใหญ่ ของ จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง รวมทั้งหนังสือ พันธุ์หมาบ้า ที่สร้างความเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ เต็มตัวให้กับผู้ชายที่ชื่อ คมกฤษ ตรีวิมล

 

 

เริ่มฟังเพลงจริงๆ น่าจะอายุประมาณเท่าไร

ช่วงวัยรุ่นครับ ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เริ่มฟังตั้งแต่วงไมโคร นูโว มาถึงค่ายคีตา จริงๆ เป็นคนติดสื่อทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือ เพราะว่าตอนเด็กๆ แม่ขายของแล้วก็ทิ้งเราไว้กับทีวี ขณะที่ดูทีวีก็มีรายการเพลง ก็เลยได้ฟังเพลงจากทีวี พออายุเพิ่มขึ้นมาหน่อยก็ฟังวิทยุ ฟังพี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) คลื่นฮอตเวฟก็ฟังมาตลอด

 

แล้วก็มีซื้ออัลบั้มที่เป็นเทปคาสเซตต์เก็บไว้ แต่ก็ไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะเอาเงินไปซื้อหนังสือการ์ตูน (หัวเราะ) แต่จำได้เลยว่าเทปที่ซื้อม้วนแรกในชีวิต ศิลปินชื่อ ทิพย์ ธรรมศิริ อยู่ค่ายเอสพี ศุภมิตร ปกเทปสวยก็เลยซื้อ แต่ม้วนอื่นหลังๆ ก็มาซื้อตอนเรียนมหาวิทยาลัย ชอบซื้อของ บอย โกสิยพงษ์ ค่ายเบเกอรี่มิวสิค เพราะว่าปกมันสวย

 

จำได้ไหมว่าความรู้สึกตอนซื้อเทปม้วนแรกเป็นอย่างไรบ้าง

ตื่นเต้นมากเลยนะ เพราะว่าไม่เคยเอาเงินตัวเองมาซื้อเทป ตอนผมอยู่ ม.ต้น ผมเรียนโรงเรียนชายล้วนที่อยุธยา วันไหนเทปไมโครออก สมมติเพื่อนซื้อเทปมาก็จะไปรวมกันที่บ้านเพื่อนหลังเลิกเรียนแล้วก็เปิดเพลง ก็ฟังเรียงเพลงไป อารมณ์มันเหมือนพิธีกรรม ก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ จนมันจบรอบหนึ่งก็มาคุยกันว่าใครชอบเพลงไหน แล้วก็มาฟังอีกรอบหนึ่ง ฟังหลายๆ รอบ แล้วถ้าใครร้องได้ก่อนก็จะชนะ หรือบางทีก็จะมาดูรายการเพลงด้วยกัน รอดูว่าจะมีเอ็มวีเพลงใหม่อะไรออกบ้าง ของทาทา ติ๊นา อะไรแบบนี้

 

เราควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน เอาความเป็นตัวเองออกไปบ้างก็ได้ มันไม่มีอะไรที่ถึงขนาดหักไปเลยหรอก มันงอได้ แปรเปลี่ยนได้

 

พอจะนึกภาพแก๊งเด็กผู้ชายรวมกลุ่มกันฟังเพลงไมโครออก แต่กับภาพที่รอดูเอ็มวีของติ๊นาหรือทาทานี่เป็นแบบไหน

คุยกันว่าเราจะก๊อบท่าเต้นยังไง (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ คือผมฟังเพลงทุกแนวไง แล้วตอนนั้นสื่อกระแสหลักมันมีอยู่แค่นั้น ก็เลยฟังทั้งหมด ตั้งแต่เพลงร็อกของไมโคร อัสนี-วสันต์ อินดี้หน่อยก็ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ พวกนี้นี่ฟังวันละไม่รู้กี่รอบ และเพลงป๊อปก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ฟัง นอกจากฟังเพลงก็จะตื่นเต้นกับการรอดูว่าจะมีดาราคนไหนมาเล่นเอ็มวีเพลงใหม่บ้าง ดูว่าพอออกอัลบั้มใหม่แล้วศิลปินเขาจะเปลี่ยนลุคเป็นแบบไหน

 

 

มีเพลงไหนที่รู้สึกว่าชอบหรือมีอิทธิพลกับความคิดและชีวิตของคุณมากๆ บ้าง

หนึ่งเพลงที่ผมยังชอบมากๆ เหมือนเดิมมาจนถึงตอนนี้คือเพลง วิมานดิน ของ ตู่-นันทิดา แก้วบัวสาย เมื่อกี้ยังพูดถึงไมโครกับดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ อยู่เลย (หัวเราะ) คือผมมีความประทับใจอย่างรุนแรงกับพี่ตู่ คือตอนผมอายุ 11 ปี ผมอาสาไปเป็นคนโบกรถในคอนเสิร์ตที่เขามาเล่นที่อยุธยา ก็คือเขาดังที่สุดในประเทศแล้วตอนนั้น เขาเดินลงมาจากรถแล้วเขาก็จับมือเรา พอเขาผ่านไปปุ๊บ เป็นช่วงเวลาที่เหมือนชีวิตข้ามพ้นวัยเลยนะ กลายเป็นเด็กหนุ่มภายใน 2 วินาที (หัวเราะ) coming of age เลย

 

อันนั้นคือความประทับใจแรก จนผมได้มาฟังเพลง วิมานดิน แล้วชอบมาก อยากดูแลเธอให้เหมือนอยู่บนวิมานที่อยู่บนดิน โอ้โห มันสวยงามมากถึงขนาดไปตามหาชื่อคนแต่งคือ คุณสุรักษ์ สุขเสวี แล้วก็ไปตามอ่านหนังสือเขา ไปศึกษาเรื่องราวจนรู้กระทั่งว่าบางคนเขาขอให้ได้ฟังเพลงนี้ก่อนที่จะตาย เป็นเพลงที่มีพลังงานสูงมาก พูดถึงความรักที่แท้จริง พูดถึงความรักยิ่งใหญ่ที่คนหนึ่งจะมอบให้คนที่เขารักได้

 

เป็นเพลงที่มีอิทธิพลกับชีวิตของผมมากๆ โดยเฉพาะตอนแก่ คือเมื่อก่อนเราใช้ชีวิตตามอารมณ์ คิดว่ารู้สึกอย่างไรต้องแสดงออกอย่างนั้น เธอห้ามฝืน ห้ามเปลี่ยนตัวเองนะ ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็เลิก ไม่มีแพสชันก็บอกไปเลย ไม่ไหว มันหมดแล้วจริงๆ ว่ะ อยู่ไปก็เท่านั้น

 

แต่พอโตขึ้นมากๆ เรากลับมาคิดเรื่องการดูแลคนรักให้ดีที่สุดเหมือนในเพลง วิมานดิน เราควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน เอาความเป็นตัวเองออกไปบ้างก็ได้ มันไม่มีอะไรที่ถึงขนาดหักไปเลยหรอก มันงอได้ แปรเปลี่ยนได้ เรียนรู้ว่าการทำให้อีกฝ่ายสบายใจแม่งดีกว่าการเป็นตัวเองอีก เพราะเราไม่ได้เสียอะไรนี่ เราแค่เสียความเป็นตัวเองไปนิดหน่อยเท่านั้นเอง มันแลกกันได้

 

เพลง วิมานดิน

 

จุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งคือการได้ฟังเพลงของวงเฉลียง มันเปิดโลกการฟังเพลงของเราไปเลย อย่างเพลง กล้วยไข่ ที่รู้สึกว่าเพลงอะไรวะ ท่อนฮุกมันเกี่ยวอะไรกับกล้วยไข่บ้างวะ (หัวเราะ) ยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ทำให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างได้

 

แล้วก็ได้ฟังเพลงอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราคิดว่าในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ การกระทำ มันอาจจะมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นซ่อนอยู่ข้างหลังก็ได้เนอะ ฟังแล้วเหมือนทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกแล้ว (หัวเราะ) คือทำให้เราไม่ตัดสินใครในทันทีทันใดว่าเขาเป็นคนดีหรือเลว มันต้องใช้เวลาในการมองคนคนนั้นให้ลึกลงไปกว่านั้น

 

ยังมีเพลงอื่นๆ ของเฉลียงอีกเยอะแยะเลยอย่าง ต้นชบากับคนตาบอด ที่พูดถึงความงามที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่เพลง นิทานหิ่งห้อย ที่บอกว่าอย่าขังความจริง อย่าขังความงาม ที่ฟังตอนนั้นก็ไม่เข้าใจหรอก แต่มันสร้างความฉงนให้เรา แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราติดไปกับเพลงของเขา มันเปลี่ยนโลกการฟังเพลงเลยนะ ไม่ใช่เพลงรัก ไม่ใช่เพลงอกหัก แต่เป็นเพลงที่ทำให้สนุกกับการได้คิดไปกับสิ่งที่เขานำเสนอ เฉลียงก็จะเป็นกลุ่มศิลปินในดวงใจจนถึงปัจจุบัน

 

เพลง กล้วยไข่

 

เพลง อื่นๆ อีกมากมาย  

 

นอกจากเพลงแล้วมีสื่ออะไรอีกบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทันทีหลังจากเสพเนื้อหานั้นไป

หนังสือ ไปยาลใหญ่ ของ พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ตอนนั้นเป็นยุคที่เขาฮิตสอบเทียบกันมาก สามารถเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 16-17 ปี แต่ตอน ม.5 ผมบอกกับแม่เลยว่าผมจะเรียนต่อ ม.6 เพราะพี่จุ้ยบอกไว้ในหนังสือ ไปยาลใหญ่ (หัวเราะ)

 

คือชีวิตตอน ม.6 เนี่ย เราได้ทำอะไรหลายอย่างมาก เราเป็นพี่ใหญ่สุดของโรงเรียน ได้สมัครประธานนักเรียน สมัครประธานสี เราได้รู้จักกับอาจารย์มากขึ้น เราได้จีบรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ ได้ทักทายแม่ค้า ซึ่งเราไม่สามารถทำได้เมื่อเรียนจบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรีบเรียนให้จบหรอก เพราะยังไงก็จบอยู่ดี แต่ไอ้ช่วงเวลาและความทรงจำเหล่านี้ไม่สามารถเอากลับมาได้แล้ว คือถ้าเรารีบเรียนให้จบ ความทรงจำเหล่านี้ก็จะหายไป ซึ่งผมรู้สึกดีใจมากที่ได้เรียน ม.6 กับเพื่อนๆ ต่อ แล้วก็มีหนังสืออีกเล่มที่ส่งผลกระทบกับผมคือ พันธ์ุหมาบ้า ผมอ่านตอนอยู่ ม.4 อายุ 16 พออ่านจบแล้วเหมือนเราโตไปเลย เหมือนเราอายุ 20 แล้ว (หัวเราะ)

 

คุณพูดถึงหนังสือเล่มนี้บ่อยมาก แถมยังมีโครงการสร้างเป็นซีรีส์ด้วย พันธุ์หมาบ้า มีอิทธิพลกับคุณมากขนาดไหน

ถ้าไม่ได้อ่านผมอาจจะเป็นตุ๊ด (หัวเราะ) คือผมเป็นเด็กอายุ 16 ปีที่เรียบร้อยมาก ใช้สรรพนามกับเพื่อนเป็น เรา นาย เธอ แบบนั้น แล้วพออ่าน พันธุ์หมาบ้า ปุ๊บ แถวนี้มีกัญชามาดูดหรือเปล่าวะ เอามาดูดสักหน่อยเว้ย (หัวเราะ) ล้อเล่นนะ คือไม่ได้ไปหามาดูดจริงๆ แต่ด้วยความที่พี่ชาติ กอบจิตติ แกเขียนบรรยายทุกอย่างไว้ได้ดีมาก เหมือนเราเห็นบรรยากาศของเพื่อนแก๊งนั้นจริงๆ เป็นชีวิตของลูกผู้ชาย ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนที่ไม่ได้แสดงออกกันมาก แต่เขารักกันจริงๆ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ไม่ได้เจอกันนานแค่ไหน เขาก็ยังรักกันเหมือนเดิม ซึ่งเพื่อนเป็นเรื่องที่สำคัญกับผมมากทั้งตอนเด็กและตอนโต และหนังสือพูดถึงเรื่องเพื่อนที่เป็นคนพันธุ์เดียวกับเรา เป็นพันธุ์หมาบ้าเหมือนกัน ชีวิตเราต้องการอะไรแบบนี้

 

ความคืบหน้าของซีรีส์ พันธุ์หมาบ้า เป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าทำเรื่องนี้ มันควรจะต้องไปลงในแพลตฟอร์มอย่าง Netflix ถึงจะเวิร์ก เพราะถ้าไปฉายในช่องปกติที่เป็นฟรีทีวีหรือดิจิทัลทีวี ความแรงมันไม่ได้ เราไม่สามารถดูดเนื้อออกทีวีได้ นึกออกไหม (หัวเราะ) จะด่า จะพูดคำหยาบ หรือเอาพฤติกรรมแบบแก๊งพันธุ์หมาบ้ามาใส่ทั้งหมดไม่ได้ ก็คุยกับพี่ชาติว่าเราลง Netflix กันไหม ตอนนี้อยู่ในกระบวนการหาความเป็นไปได้ว่าเราจะทำได้ไหม ซึ่งก็มีโอกาสมากขึ้น เพราะเขาเริ่มทำออริจินัลคอนเทนต์ที่เป็นของประเทศไทยแล้ว

 

 

ถามในฐานะผู้กำกับและนักฟังเพลง คุณคิดว่าดนตรีและภาพยนตร์มีความสัมพันธ์กันมากน้อยขนาดไหน

มันจำเป็นมากเลยนะ โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังแมส เหตุผลข้อแรกคือคนดูชินแล้วว่าจะต้องมีเพลงอยู่ในหนัง ข้อสองคือมันมีเพลงตรงกับหนังได้จริงๆ บางเพลงแค่ทำนองขึ้นมา น้ำตาเราก็รื้นแล้ว แต่มันควรจะเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันนะ ผมว่าถ้าเพลงไหนที่โดดขึ้นมาจนทำให้คนลืมหนังหรือฉากในหนังไปเลยนี่ไม่น่าจะถูก

 

อย่างเพลง ช่างไม่รู้เลย ในเรื่อง เพื่อนสนิท นี่ชัดเจน เป็นเครื่องมือที่เอามาเพิ่มอารมณ์เคว้งคว้างของพระเอกได้ดีมาก คือพอโดนบอกเลิกปุ๊บ เดินไปทางไหนก็เหมือนมึงอยู่คนเดียว ในขณะเดียวกันหนังก็ส่งให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมไปด้วย มันคือการส่งเสริมซึ่งกันและกันของหนังและเพลง

 

เพลง ช่างไม่รู้เลย

 

อย่าง แฟนฉัน ที่ทำร่วมกับผู้กำกับหลายคน มีวิธีการหาข้อสรุปในการหาเพลงที่เหมาะสมอย่างไร

เออ แฟนฉัน นี่เกือบจะเป็นหนังเพลงอยู่แล้วเนอะ เท่าที่จำได้เราลิสต์เพลงที่แต่ละคนชอบและคิดว่าเหมาะกับฉากต่างๆ แล้วก็มาคุยกัน มีหลายวิธีมาก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเถียงกัน ด่ากัน เราไม่ใช้วิธีการโหวตนะครับ ใช้วิธีหาพวกแทน (หัวเราะ) พยายามพูดให้อีกฝ่ายคิดเหมือนเราให้ได้ ซึ่งใช้พลังงานและเปลืองเหล้าสุดๆ คือต้องชนให้มันเมาจนกระทั่งมันยอมแพ้ (หัวเราะ) แต่โชคดีที่พวกผมวัยเดียวกันหมดเลย ทุกเพลงที่เอามาใช้ก็จะเป็นเพลงในช่วงที่พวกผมฟังกันตอนเด็กๆ นี่ล่ะ

 

แต่เพลงที่ผมชอบที่สุดมีอยู่หนึ่งเพลง ผมจำไม่ได้ว่าใครเลือก คือเพลง คนที่รู้ใจ ของ แหวน-ฐิติมา สุตสุนทร มันเป็นเพลงตอนที่เจี๊ยบอยากเตะบอลกับผู้หญิง แล้วผู้หญิงเตะบอลไม่เป็น ผมว่าเพลงนี้มาสเตอร์พีซที่สุดในหนังเลย เพลงที่เล่าถึงจุดประสงค์ที่เราจะเล่าในซีนนี้ ด้วยเพลงที่เรามีอยู่แล้วซึ่งเหมาะเจาะแล้วก็สวยงามมาก พี่เก้งบอกว่าเขาดูซีนนี้ทีไรก็ร้องไห้ทุกครั้งเลย

 

เพลง คนที่รู้ใจ  

 

รู้สึกว่าทุกวันนี้มันมีแต่ Hate Speech เราทำเรื่อง Love Speech กันดีกว่า

 

อย่างโปรเจกต์ The Love Speech ผลงานล่าสุดที่คุณทำร่วมกับ GMM Grammy ก็มีเพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำไมจึงเลือกนำเสนอผลงานออกมาในรูปแบบนี้

รู้สึกว่าทุกวันนี้มันมีแต่ Hate Speech เราทำเรื่อง Love Speech กันดีกว่า โดยใช้คำ 3 คำมาทำเป็นหนังสั้นก็คือ ขอโทษ ขอบคุณ ไม่เป็นไร คือทางแกรมมี่ให้ผมคิดเรื่องมาก่อน ผมก็คิดไว้ 3-4 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 3 คำนี้แหละ โชคดีที่ 25hours เขามีเพลงสุดท้ายของอัลบั้มที่ชื่อ ขออภัย ซึ่งตรงคอนเซปต์กับเราพอดี แล้วก็มาเล่าพล็อตอีก 2 เรื่องให้วง Lomosonic กับ Getsunova เอาไปแต่งเป็นเพลง จะเป็นงานที่ค่อนข้างแปลก เพราะจะมีหนังสั้นของเราเป็นตัวกำหนดสตอรีของเพลง ไม่เหมือนเวลาทำเอ็มวีที่เราต้องไปตีความงานภาพจากดนตรีของเขาอีกทีหนึ่ง

 

 

ทำไมจึงเลือกนำเสนอประเด็น LGBT มาใช้ในหนังสั้นเรื่อง ขออภัย

ขออภัย มันเป็นเรื่องของครอบครัวผม คือน้องผมเป็นผู้ชายที่แปลงเพศแล้ว พอวันที่พ่อเสีย เขาไม่ได้กลับบ้านมานานมาก แล้วเขาก็กลับมาไหว้ศพพ่อ ผมเห็นภาพนั้น ผมเห็นเขามาร้องไห้ต่อหน้าศพพ่อ ผมก็เลยเอามาผสมแล้วก็แต่งใหม่เพิ่มเติมจนกลายเป็นหนังเรื่องนี้ขึ้นมา สำหรับผม ถ้าเพลงนี้เอาไปทำเป็นเรื่องอื่น ผมว่ามันอาจจะยังไม่เข้าเสียทีเดียว แต่พอเป็นเรื่องนี้ ทั้งตัวเอกเป็นเพศที่สาม ทั้งเรื่องที่ขัดแย้งกับพ่อ ผมคิดว่ามันสวยงามที่เราจะพูดคำว่าขออภัยในสถานการณ์นี้ ผมก็เลยเลือกพล็อตนี้ขึ้นมา

 

 

 

แล้วเรื่อง Tonight We Run ที่ทำร่วมกับวง Lomosonic ทำไมถึงเป็นเรื่องของคนตาบอด

อย่าง Lomosonic เพลงของเขามักจะเป็นเพลงสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งมันดีมาก มันเป็นเนื้อหาที่ในตลาดมันมีน้อย ผมเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับนักวิ่งตาบอด แล้วก็ลองไปดูในคลิปว่าเขาวิ่งกันยังไง นักวิ่งตาบอดเขาต้องมีไกด์รันเนอร์ ผมก็เลยสร้างเรื่องให้คนที่ตาดีเนี่ยเป็นคนล้มเหลวในชีวิต เหมือนกับให้คนตาบอดนำทางคนตาดี ผมก็เล่าพล็อตนี้ให้ Lomosonic ฟัง แล้วเขาก็ไปแต่งเพลงเป็นเรื่องราวขึ้นมา ผมก็คิดว่ามันเหมาะสมกัน มันพูดถึงเรื่องการก้าวไปข้างหน้า พูดถึงเรื่องเมื่อล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาอะไรแบบนี้

 

แล้วเรื่องนี้พิเศษมากตรงที่ได้ อู๊ด (Ozeeoos จากรายการ The Rapper) ที่ตรงกับตัวละครมากๆ คือสายตาเขามองไม่เห็น แต่ภาพความฝันของเขามันชัดเจนมาก เขาเป็นทั้งแรปเปอร์ ทั้งวิ่งมาราธอน เป็นนักกีฬาไตรกีฬา แล้วเขามีความตั้งใจสูงมากในการทำทุกๆ โอกาสที่เขาได้รับ ตอนถ่ายหนังก็ตั้งใจมาก ท่องบทมาแบบเป๊ะๆ เลย ให้แต่งเพลงก็แต่ง ให้ทำอะไรเขาตั้งใจทำทุกอย่างจริงๆ เขาไม่สนหรอกว่าคนจะมองว่าตาบอดแล้วจะมาวิ่งหรือเปล่า เขารู้แค่ว่าอยากทำอะไรแล้วเขาก็ทำเลย

 

อย่างผมก็มีช่วงแรกๆ ที่เพิ่งจบใหม่ อยากทำหนัง บางคนก็บอกว่าเละแน่นอน แต่โชคดีที่เรามี พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ที่เขาเชื่อเราจริงๆ โดยไม่คิดถึงเรื่องการตลาดเลย เขาคิดแค่ว่าหนังที่ดีก็ต้องมีคนดู และเขาคิดว่าไอ้เด็กพวกนี้ทำได้ ผมว่าเขาก็บ้าดีเดือดเหมือนกันนะที่ทำหนังอะไรแบบนี้

 

เขาไปบอกคนอื่นว่าเรื่องนี้ดีมากเลยนะครับ มีเด็กผู้หญิงคบกับเด็กผู้ชายแล้วก็ไปปั่นจักรยาน มีเพื่อนพูดให้โปรดิวเซอร์ พูดให้ทุกคนเชื่อว่ามันดี ซึ่งคนก็คนจะงงว่ามันดียังไงวะ (หัวเราะ) แต่เขาก็เชื่อว่ามันดี เชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตาเลย ศรัทธาแบบสุดโต่ง แล้วเขาก็ให้โอกาสจนพวกเราทำ แฟนฉัน ออกมาได้จริงๆ

 

 

เรื่องสุดท้าย ประเด็นที่พูดถึงค่อนข้างแตกต่างจากสองเรื่องก่อนหน้าพอผมควร

ผมยังไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เพราะเพิ่งปล่อย อยากให้ไปชมกัน คร่าวๆ คือเป็นเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ฝ่ายชายความจำเสื่อมจากอุบัติเหตุ แล้วฝ่ายหญิงก็พยายามทำให้ฝ่ายชายฟื้นความทรงจำขึ้นมาให้ได้ ประเด็นประมาณนี้แหละ พูดเยอะไม่ได้จริงๆ เดี๋ยวสปอยล์ ห้ามโดนสปอยล์นะครับเรื่องนี้ (หัวเราะ)  

 

แล้วก็ได้ทำเพลงร่วมกับวง Getsunova พอผมเล่าพล็อตให้ฟัง เขาก็แต่งเพลงมาแล้วเหมาะสมกับเรื่องมาก และเพลงก็ติดหู คือผมว่าวงนี้เขามีเซนส์ในการทำเพลงให้แมสมาก น้องๆ ในออฟฟิศฟังครั้งแรกแล้วร้องได้หมดเลย

 

 

ในบรรดา Love Speech ทั้ง 3 คำที่หยิบมาพูดในโปรเจกต์นี้ คุณให้น้ำหนักกับคำไหนมากที่สุด

ผมว่าขอโทษสำคัญมาก บางคนไม่ชอบขอโทษ เพราะกลัวเสียฟอร์ม ไม่อยากยอมรับ บางทีเราทำผิด แต่เราไม่ยอมพูดขอโทษ แต่ทำอะไรเนียนๆ ให้เขาสบายใจแทนคำพูด แต่ตอนนี้พอเราอายุเยอะประมาณหนึ่งก็เรียนรู้แล้วว่าควรจะพูด ถ้าเมื่อก่อนอาจจะยังรู้สึกเฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้ผมเป็นคนพูดขอโทษง่ายมาก

 

แต่กับคำว่าไม่เป็นไรนี่พูดยากกว่าเยอะ ผมว่ามันเป็นเลเวลที่สูงกว่าขอโทษ ถ้าพูดว่าไม่เป็นไรได้อย่างบริสุทธิ์ใจ 100% มันยากมาก ส่วนขอบคุณมันเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วผมว่าขอบคุณพูดง่ายมากเลย อย่างพนักงานเก็บค่าทางด่วน พอเราให้เงินแล้วเขาเอาบัตรให้เรา เราก็ขอบคุณเขาได้ ขอบคุณเด็กเสิร์ฟอะไรแบบนี้ ทุกคำเป็นคำที่ดีและควรให้ความสำคัญทั้งหมดครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเรา ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา แต่ละเหตุการณ์ด้วยว่าเราจะพูดคำนั้นออกมาได้จริงๆ หรือเปล่า

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต, GMM Grammy

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • ช่วงทำหนังเรื่อง เพื่อนสนิท มีนักแต่งเพลงหลายคนที่ได้รับมอบหมายให้มาแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ แต่ยังไม่มีเพลงไหนที่เอสถูกใจ จนมาเจอเพลง ช่างไม่รู้เลย ซึ่งบังเอิญได้ยินตอนที่คลื่นวิทยุเปิดขึ้นมาระหว่างขับรถ
  • ในภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน เกือบได้ใช้เพลง ใจรัก ของ สุชาติ ชวางกูร ในช่วงที่แจ็คกำลังจีบพี่น้ำ แล้วมีเด็กเทคนิคมาจีบเหมือนกัน ก็เกิดการทะเลาะกันขึ้น ระหว่างที่ชกต่อยจะเป็นภาพสโลว์โมชันขึ้นมาพร้อมกับเพลงนี้
  • เช่นเดียวกับเพลง ดาวประดับใจ ของ ดอน สอนระเบียบ ที่เกือบได้ใช้ในช่วงที่เจี๊ยบเดินกลับบ้านแล้วก็เห็นดวงดาวอยู่บนท้องฟ้า
  • เอสคิดว่าตัวเองมีลักษณะนิสัยคล้ายกับตัวละคร อ๊อตโต้ ในเรื่อง พันธุ์หมาบ้า มากที่สุด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X