×

บทเรียนจาก Kodak ที่กำลังสะท้อนถึง ‘หล่มปัญหา’ เศรษฐกิจไทย

31.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Kodak บริษัทผู้ครองตลาดมาแทบจะตลอดเวลาในศตวรรษที่ 20 แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา บริษัทก็ปรับตัวไม่ทันจนถูกดิสรัปต์ในที่สุด
  • ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเจอสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับ Kodak เพราะเมื่อเทคโนโลยีใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่ ประเทศไทยโดยรวมกลับยังติดอยู่กับความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเก่า และไม่สามารถจับทางของใหม่ได้ทัน
  • ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเจอกับวิกฤต เรามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงในทุกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปแล้วก็ตาม
  • เครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลายอันของไทยปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยี และแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเติบโตที่ลดลง ทำให้ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตเท่ากับจุดเดิมเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น

ณ ยุคปัจจุบัน หลายคนก็คงจะเลือกใช้สมาร์ทโฟนในการเก็บบันทึกความทรงจำและโมเมนต์สำคัญต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจที่บุกเบิกเรื่องการบันทึกภาพก็คือ ‘Kodak’ ที่เป็นบริษัทผู้ครองตลาดมาแทบจะตลอดในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยคำว่า ‘Kodak Moment’ เป็นวลีที่ฮิตมากในสมัยนั้น เมื่อคนพูดถึงช่วงเวลาที่ควรค่าแก่การเก็บบันทึกลงบนภาพถ่าย

 

แต่แล้วเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนมากไปอย่างสิ้นเชิง Kodak ก็เจอกับความท้าทายที่ต้องเลือกว่าจะปรับทิศทางไปตามเทรนด์กล้องดิจิทัลหรือเดินหน้าพัฒนากล้องฟิล์มต่อ และแน่นอนว่า Kodak เลือกไปต่อกับกล้องฟิล์ม ทำให้พวกเขาปรับตัวไม่ทัน จนถูกเทคโนโลยีกลืนกินไปในที่สุด และแม้ว่า Kodak จะยังทำธุรกิจในปัจจุบัน แต่ความนิยมนั้นก็แทบจะเทียบไม่ได้กับยุคที่บริษัทเคยรุ่งเรืองในอดีต

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเจอกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับ Kodak เพราะเมื่อเทคโนโลยีใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่ ประเทศไทยโดยรวมกลับยังติดอยู่กับความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเก่า โดยที่ยังไม่สามารถจับทางของใหม่ได้ทัน

 

 

สาเหตุนี้ทำให้ไทยต้องเจอกับสภาวะที่เรากลายเป็นฐานผลิตของกลุ่มสินค้าที่ในอนาคตอันใกล้อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องการของตลาดโลกอีกต่อไป หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศไทยกำลังเป็นแหล่งรวมการผลิตสิ่งที่คนจะต้องการน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ที่เดิมเรามีสัดส่วนการเป็นผู้ผลิตอยู่ที่ประมาณ 30-40% แต่ตอนนี้เรียกได้ว่ากำลังการผลิตทั่วโลกกว่า 80% ย้ายมาอยู่ที่ไทยแล้ว แต่ทุกวันนี้การใช้งานฮาร์ดดิสก์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ลดลงไปอย่างต่อเนื่อง จากการที่พวกเขาหันไปพึ่งชิปที่ผลิตจากไต้หวันหรือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอะไรที่ไทยยังผลิตไม่ได้

 

อีกหนึ่งตัวอย่างประเภทสินค้าก็คือ รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก แต่อย่างที่หลายคนได้เห็นกันว่า เทรนด์โลกกำลังหันไปหารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

นอกจากนี้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเจอกับวิกฤต เรามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงทุกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปแล้วก็ตาม จาก 7.3% มาเหลือ 5.3% หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง, จาก 5.3% ลงมา 3.1% หลังวิกฤตการเงินโลก และ 3.1% ลงมาเหลือ 2.2% หลังวิกฤตโควิด ซึ่งหลายฝ่ายก็หวังว่าเมื่อวิกฤตผ่านไป เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติ แต่หลังจากโควิดประมาณ 2 ปี เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับที่เดิมและฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 

เมื่อโลกเปลี่ยนไปเร็วและเครื่องจักรอื่นๆ ทางเศรษฐกิจของเราที่ปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งยังเริ่มแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเติบโตที่ลดลง ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตเท่ากับจุดเดิมก็ดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เว้นแต่จะมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

มากไปกว่านั้น ประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างการ ‘แก่ก่อนรวย’ และ ‘คุณภาพแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการของตลาดโลก’ ก็เป็น 2 สิ่งที่ท้าทายต่ออนาคตประเทศไทย ซึ่งในประเด็นเรื่องแรงงาน KKP ได้ทำงานวิจัยและพบว่า ผลคะแนนการทดสอบ PISA ของไทยปี 2022 ตกต่ำลงในทุกหมวด เมื่อเทียบดูกับปี 2012 จำนวนนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่าพื้นฐานที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบเพิ่มขึ้นถึง 19% ในหมวดคณิตศาสตร์, 32% ในหมวดการอ่าน และ 19% ในหมวดวิทยาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่ลดลงและอาจกระทบต่ออนาคตการแข่งขันของไทยบนเวทีโลกได้

 

ดร.พิพัฒน์ มองว่า วันนี้ประเด็นสำคัญไม่ใช่การไม่เข้าใจปัญหา หากแต่เป็นการหาฉันทมติร่วมกันของสังคมว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรมากกว่า เพราะการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาที่สามารถดำเนินไปได้ถึงหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผลแบบเป็นรูปธรรม จึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มพูดคุยและลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะ ‘เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกว่ามาถึงจุดพลิกผันแล้ว’ 

 

ภาพ: Adam Berry / Getty Images, Adisorn Fineday Chutikunakorn / Getty Image

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X