กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ ‘Economic and Investment Outlook 2022: เปิดมุมมองเศรษฐกิจโลก เจาะลึกกลยุทธ์การลงทุนไทย’ ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงที่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของวิกฤตโควิดชัดขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น โดยปัจจุบัน 63% ของประชากรโลกหรือราว 4.83 พันล้านคน ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ขณะที่การฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศรายได้สูง ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 70% ของ GDP โลก มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรที่สูงถึง 80%
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 48.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของประชากร ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเด็กอายุ 0-12 ปี จะทำให้จำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากถึง 88%
“การที่คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา คนกลับมาจับจ่ายหลังอัดอั้นมานาน ทำให้ภาคธุรกิจที่ไม่ได้รีสต๊อกมา 8 เดือน ต้องแข่งกันสั่งวัตถุดิบเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะสั้นเราจึงเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เกิดเป็นเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่องกลับ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินตามมา” กอบศักดิ์ระบุ
กอบศักดิ์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะใช้ยาแรงเพื่อดูแลเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ยุคของดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องล้นกำลังจะจบลง เงินทุนจะไหลกลับไปยังฝั่งอเมริกา ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า ราคาทองคำมีโอกาสที่ปรับลงเมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรจะสูงขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับคริปโตที่ราคาอาจปรับลดลงตามสภาพคล่องที่หายไป
“แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นตามสหรัฐฯ แต่ดอกเบี้ยหุ้นกู้หรือพันธบัตรของเรา เช่น ในตัว 10 ปี ได้ปรับขึ้นไปแล้ว ดังนั้นใครที่ลงทุนในกองทุนพันธบัตรจะมีโอกาสเสียหายได้ ปีนี้จึงถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุน” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวกลับมาดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว เช่น ตัวเลขส่งออก ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาเป็นบวก 25%, 8% และ 4.7% จากช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมา ก็กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้วเช่นเดียวกัน โดยยังมีเพียงภาคท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังฟื้นตัวได้แค่ 6% จากช่วงก่อนเกิดโควิด
“ธนาคารกรุงเทพคาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% โดยหัวใจสำคัญจะอยู่ที่การท่องเที่ยว หากท่องเที่ยวฟื้นได้ดีตัวเลขอาจจะสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะยาวขึ้นรัฐบาลไทยจะยังมีโจทย์ให้ต้องแก้ไข เช่น หนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทะลุ 60% ของ GDP ไปแล้ว หนี้ภาคครัวเรือนที่สูง ปัญหาหนี้เสียในกลุ่ม SMEs รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในทันกับโลกยุคใหม่” กอบศักดิ์กล่าว
ในงานเดียวกัน อเล็กซานเดอร์ ทาวาซซี่ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนเอเชีย นักกลยุทธ์เศรษฐกิจโลก และประธานกรรมการบริหารสายงานลงทุน Pictet Wealth Management กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าในลักษณะที่เรียกว่า Soft Landing โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากมีรายการสินค้าจำนวนมากที่ราคากำลังปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาการจัดการอุปทานในด้านกำลังการผลิตและการขนส่ง รวมถึงปัญหาด้านแรงงานและค่าแรงที่ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังภาคธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งและต้องการแรงงานที่มีทักษะกลับเข้าสู่ระบบ
ทาวาซซี่ยังวิเคราะห์อีกว่า ตลาดการลงทุนที่น่าสนใจในปีนี้ยังคงเป็นในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่จะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน หลังจากต้องเผชิญสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งทำให้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาของการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับการลงทุนอีกครั้งจากธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการบริหารห่วงโซ่อุปทานของตนเอง โดยเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากจีน หรือนโยบาย China Plus One
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในทิศทางดังกล่าว ทาวาซซี่ได้แนะนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินลงทุนในปี 2022 ออกเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย
- การลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นแนวโน้มการลงทุนในยุคหลังโควิด เพื่อเดินหน้าสู่ภายใต้เป้าหมายการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลแต่ละประเทศต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งปัจจุบันยังลงทุนค่อนข้างน้อยเพียง 1 ใน 3 ของแผนงานดังกล่าว จึงมั่นใจว่าในระยะหลังจากนี้จะเห็นแนวโน้มการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว
- เน้นการลงทุนที่สร้างกระแสเงินสดต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีคุณภาพดี อาจพิจารณาจากธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผล การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่มีเครดิตดีที่เป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งในเอเชีย ซึ่งมีหลายบริษัทที่กลับมามีอันดับเครดิตที่ดีขึ้นในระดับเกรดลงทุนอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดได้คลายตัวลง และอาจสร้างโอกาสเพิ่มอัตราผลตอบแทนได้โดยพิจารณาลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งแกร่ง โดยประเมินจากการมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี มีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และมีระดับหนี้สินค่อนข้างต่ำ
- การลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หากประเมินอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2-4% การลงทุนในหุ้นยังคงเป็นทางเลือกที่ดีมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองสูง เพราะมีความสามารถทำกำไรในภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้นได้ อาจเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานแบรนด์แข็งแกร่ง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย คู่แข่งเลียนแบบได้ยาก จึงมีความสามารถปรับขึ้นราคาเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคแทนได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มักให้ผลตอบแทนที่ดีในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง
- ทางเลือกลงทุนภายใต้ความผันผวน การบริหารจัดการพอร์ตลงทุนต้องเตรียมพร้อมปรับตัวและมีแผนเชิงรุกเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ปัจจัยความขัดแย้งระหว่างประเทศในเอเชียและยุโรป ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงอาจพิจารณาทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP