×

รู้จักกะเหรี่ยง KNU เก่งกาจแค่ไหน ทำไมตีเมียวดีแตก

09.04.2024
  • LOADING...
KNU

การยึดครองเมืองเมียวดี ด่านการค้าชายแดนสำคัญระหว่างเมียนมาและไทย โดยกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อกะเหรี่ยง KNU ถือเป็นอีกความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพเมียนมา ในสงครามกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

 

การยอมจำนนของทหารเมียนมาในเมียวดีหลายร้อยคน และกระแสข่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยขออนุมัติเที่ยวบินพิเศษจำนวน 3 เที่ยว ลงจอดที่สนามบินแม่สอดระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน เพื่อรับทหารและครอบครัวที่ยอมจำนนในเมืองเมียวดีกลับไปยังพื้นที่ของกองทัพเมียนมา กลายเป็นประเด็นที่คนไทยจำนวนมากให้ความสนใจ 

 

โดยล่าสุดทางรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงแล้ว ว่ามีการอนุมัติเที่ยวบินโดยเหตุผลด้านมนุษยธรรม และมีเที่ยวบินจากเมียนมาเพียง 1 เที่ยวบินที่มาลงจอดที่สนามบินแม่สอด ส่วนอีก 2 เที่ยวบินยกเลิกไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนไทยจำนวนมากยังสงสัยคือเกิดอะไรขึ้นในการสู้รบที่เมียวดี และกลุ่มกะเหรี่ยง KNU เป็นใคร เก่งกาจขนาดไหน ทำไมจึงสามารถบุกโจมตีและยึดเมืองการค้าชายแดนที่เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลทหารเมียนมาได้

 

เกิดอะไรในวันที่ 5 เมษายน

 

Karen News รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียวดี ว่ากองกำลังร่วมต่อต้านกองทัพเมียนมา ที่นำโดยกองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA) ซึ่งเป็นหน่วยทหารของ KNU พร้อมด้วยกองกำลังปกป้องประชาชน (People’s Defense Force: PDF) ประสบความสำเร็จในการบุกเข้ายึดฐานทัพในหมู่บ้านติงกะหยิงหย่อง (Thingannyinaung) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการระดับภูมิภาคของกองทัพเมียนมา ที่อยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกราว 10 กิโลเมตร ภายหลังการยอมจำนนของกองพันทหารราบเบาที่ 356 และ 357 ที่ดูแลฐานทัพดังกล่าว 

 

โดย พ.อ. ตุน ตุน ลัต ผู้บัญชาการกองพันเป็นผู้นำบรรดาทหารกว่า 500 นาย และครอบครัว 81 คน ยอมจำนนแก่กลุ่ม KNLA ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KNU ยืนยันว่าทหารเมียนมาและครอบครัวที่ยอมจำนนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเชลยศึก (POWs) ส่วนการส่งตัวกลับให้กองทัพเมียนมาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

 

ความสำเร็จในการยึดเมียวดีและฐานทัพติงกะหยิงหย่อง เป็นชัยชนะและความสำเร็จมหาศาลในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับกองทัพเมียนมา

 

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง คาดว่าเป็นผลจากการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ไม่สามารถโยกย้ายกำลังทหารไปเสริมกำลังได้ และทำได้แค่เพิ่มการโจมตีทางอากาศ

 

โดยหลังสูญเสียฐานทัพ ทางกองทัพเมียนมาก็พยายามตอบโต้กลับด้วยการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง โดยมีการทิ้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์รอบพื้นที่ ต่อเนื่องจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 6 เมษายน 

 

สำหรับบรรยากาศภายในเมียวดี มีรายงานจากสำนักข่าว AP อ้างข้อมูลจากชาวเมือง 3 คน ว่าไม่ได้ยินเสียงการสู้รบมาตั้งแต่ช่วงเย็นวันอาทิตย์ (7 เมษายน) และไม่เห็นเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลทหารเลยสักคน โดยชาวเมืองส่วนใหญ่ยังทำมาหากินกันตามปกติ ขณะที่ชาวเมืองบางส่วนเตรียมที่จะหนีข้ามมายังแม่สอด

 

ขณะที่ 2 สมาชิก KNLA ที่ร่วมในการสู้รบ เผยต่อ AP วานนี้ (8 เมษายน) ว่าทาง KNLA สามารถควบคุมเมืองเมียวดีได้แล้วประมาณ 60-70% และได้มีการปิดล้อมกองทหารรักษาการณ์ที่รับผิดชอบความปลอดภัยในเมียวดี และกองพันปืนใหญ่แห่งหนึ่งทางทิศใต้ของเมือง และล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้ยอมจำนน 

 

ด้านผู้นำกองกำลัง KNU และ PDF จะมีการหารือเรื่องการปกครองเมียวดี และมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนธงที่ใช้ในเมืองจากธงชาติเมียนมาเป็นธงชาติ KNU

 

KNU คือใคร

 

ข้อมูลในเว็บไซต์ knuhq.org ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) ระบุว่า KNU เป็นองค์กรการเมืองของชาวกะเหรี่ยงที่แสวงหาความเสมอภาค การตัดสินใจด้วยตนเอง สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันในสหพันธ์สหภาพพม่า (Federal Union of Burma) 

 

โดยจุดมุ่งหมายหลักของ KNU คือการปกครองในระบอบ ‘สหพันธรัฐ’ (Federal Union) ที่แท้จริง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการตัดสินใจด้วยตนเอง

 

KNU ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1947 หลังการแยกตัวเป็นเอกราชของเมียนมาจากอังกฤษ โดยมีกองกำลังหลักอย่าง KNLA ที่คาดว่ามีกำลังทหารราว 15,000 นาย แบ่งเป็น 7 กองพัน เคลื่อนไหวในพื้นที่เทือกเขาทางตะวันออกของเมียนมา และมีการต่อสู้กับรัฐบาลกลางเมียนมามาตั้งแต่ต้นปี 1949 ซึ่งจุดมุ่งหมายในยุคเริ่มแรกคือต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ก่อนจะหันมาเรียกร้องให้มีการปกครองระบอบสหพันธรัฐ

 

ผู้นำคนสำคัญของ KNU คือนายพล โบ เมียะ ซึ่งตั้งตนเป็นประธานาธิบดีนานกว่า 24 ปี (1976-2000)

 

โดยการสู้รบระหว่าง KNU กับกองทัพเมียนมานั้นยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ และถูกยกให้เป็นสงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อนานสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่าง KNU และกองทัพ มีท่าทีดีขึ้นหลังการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลเมียนมากับผู้แทน 17 กองกำลังชาติพันธุ์ รวมถึง KNU ในปี 2013 ซึ่งส่งผลให้ KNU ยอมลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) กับรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) 

 

แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 การสู้รบระหว่าง KNU กับกองทัพกลับมาปะทุอีกครั้ง ภายหลังกองทัพเมียนมาละเมิดข้อตกลงหยุดยิงด้วยการโจมตีค่ายของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) ในเมืองสีป้อ (Hsipaw) ซึ่งส่งผลให้ KNU และกองกำลังชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิง 

 

KNU กับปฏิบัติการ 1027

 

พะโด ซอ ตอนี (Padoh Saw Taw Nee) โฆษก KNU ให้สัมภาษณ์ The Irrawaddy ภายหลังปฏิบัติการ 1027 เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาที่ปะทุในรัฐฉานตอนเหนือ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีที่แล้ว โดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพสามารถยึดครองเมืองและฐานที่มั่นทางทหารของกองทัพเมียนมาได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดยท่าทีของ KNU สอดคล้องกับพันธมิตร 3 ภราดรภาพและ PDF ที่ต้องการให้กองทัพเมียนมาและรัฐบาลทหาร ‘ล่มสลาย’ แต่การสู้รบระหว่าง KNU กับกองกำลังชาติพันธุ์ก็ไม่ได้มีการประสานความร่วมมือกันมากนัก ซึ่งเขามองว่าการเอาชนะกองทัพเมียนมาได้เร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันโจมตีฐานที่มั่นต่างๆ ของกองทัพทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม KNU ไม่ปฏิเสธทางออกอื่น เช่น การพูดคุยกับรัฐบาลทหาร แต่ยืนยันในแนวทางเดียวกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมาที่มาจากอดีตรัฐบาลพลเรือน ว่ากองทัพเมียนมาต้องออกไปจากการเมือง และต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่างๆ ที่ผ่านมาโดยไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆ

 

ขณะที่ผู้นำกองทัพต้องยอมรับในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นไปตามระบอบสหพันธรัฐ โดยโฆษก KNU มองว่าหากกองทัพยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้ก็สามารถเริ่มการเจรจาและอาจนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของประเทศได้

 

ภาพ: Alex Bowie / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising