ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกับ AstraZeneca ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเลือกประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำหรับส่งมอบวัคซีนแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกลุ่มคนไม่มากนักที่รู้ว่า นอกจากการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 AstraZeneca ยังเป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ หรือผู้พัฒนานวัตกรรมยาชั้นนำในระดับโลก ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ที่ผ่านมาชื่อ AstraZeneca อาจเป็นที่คุ้นเคยแค่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ แต่สำหรับคนทั่วไปอาจไม่ทราบว่า AstraZeneca ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยรวมแล้วกว่า 40 ปี โดยได้นำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ ตลอดจนยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น และพัฒนานวัตกรรมยาให้กับผู้ป่วย ผ่านความร่วมมือกับหลายองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
วันนี้ THE STANDARD จะพาไปทำความรู้จักกับ AstraZeneca และเป้าหมายการดำเนินงาน ภายใต้แคมเปญล่าสุดที่ชื่อว่า ‘Making Health Happen’ เพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืน
เครือข่ายบริษัทยาระดับโลก มุ่งพัฒนาโครงการดูแลสุขภาพคนไทยมากว่า 40 ปี
- AstraZeneca เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 จากการควบรวมกิจการของ Astra AB บริษัทยาเก่าแก่ของสวีเดน และ Zeneca Group บริษัทยาของสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันมีจำนวนพนักงานรวมกว่า 80,000 คน และมีสำนักงานและห้องทดลองตั้งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
- ในปี 1983 AstraZeneca ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยยังเป็น Astra AB ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด (AstraZeneca Thailand) ภายหลังการควบรวมกิจการ
- ปัจจุบัน AstraZeneca มีพนักงานในไทยกว่า 330 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาในไทยกว่า 1 พันล้านบาท
- เป้าหมายการดำเนินงานของ AstraZeneca คือการสนับสนุนการเข้าถึงยาและนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางด้านความยั่งยืน 3 ประการ คือ
- การเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ
- การดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- การส่งเสริมจริยธรรมและความโปร่งใส
วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ ตั้งเป้าเป็นผู้นำรักษา 4 กลุ่มโรค
- ที่ผ่านมา AstraZeneca มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และสนับสนุนการเข้าถึงนวัตกรรมยา เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผ่านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่
- กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไตและเมแทบอลิซึม (CVRM)
- กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา (Oncology)
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน วัคซีน และภูมิคุ้มกันบำบัด (Respiratory, Immunology, Vaccines and Immune Therapies: RIVIT) ซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด-19
- กลุ่มโรคหายาก
- ทั้งนี้ หากไม่นับรวมวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาของ AstraZeneca มากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี
- นอกจากนี้ AstraZeneca ยังได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เป็นมากกว่าการรักษา โดยมุ่งมั่นยกระดับระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs)
FYI: สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของไทยและของโลก โดยเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ซึ่งข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่าปัจจัยการเกิดโรคนั้นเกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหารรสหวาน เค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยมีโรคยอดนิยม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง ซึ่งอาการของโรคกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการทีละนิดโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกกว่า 41 ล้านคนต่อปี เทียบได้กับ 74% ของอัตราการเสียชีวิตทั่วโลก โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อนอายุ 70 ปี ราว 17 ล้านคน โดยในไทยนั้น 4 โรคหลักในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คร่าชีวิตคนไทยถึงปีละกว่า 400,000 คน หรือกว่า 74% ของอัตราการเสียชีวิตในประเทศทั้งหมด
จับมือพันธมิตร ภาครัฐ-เอกชน ร่วมมือขับเคลื่อนสาธารณสุขไทย
ภายใต้แนวทางด้านความยั่งยืน AstraZeneca ยังได้พัฒนาโครงการต่างๆ และประสานงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น
- โครงการ ‘Healthy Lung’ ซึ่งเป็นโครงการมุ่งสร้างการตระหนักรู้ สนับสนุนการเข้าถึงการวินิฉัยและการรักษาโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง
- โครงการ ‘The Lung Ambition Alliance’ เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติร่วมกัน 4 องค์กร ใน 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
- โครงการ ‘Young Health Programme’ เป็นโครงการปลูกฝังองค์ความรู้การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพ ให้กับเยาวชนอายุ 10-24 ปี ใน 24 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย โดยการสร้างผู้นำในกลุ่ม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน
- โครงการ ‘คุยเรื่องไต ไขความจริง’ เป็นโครงการให้ความรู้และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคไตสำหรับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์
- โครงการ ‘ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด’ ที่นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น
- โครงการ ‘SEARCH’ เป็นโครงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ด้วยการตรวจหาระดับอัลบูมินในปัสสาวะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณภาพการบริการ การป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไต และยืดระยะเวลาการบำบัดทดแทนไต
- โครงการสนับสนุนการเข้าถึงยา ‘AZPAP – Patient Affordability Programme’ เป็นโครงการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการเข้าถึงนวัตกรรมยาให้กับผู้ป่วยในไทย
แคมเปญ ‘Making Health Happen’ ใช้วิทยาศาสตร์ดูแลสุขภาพคนไทยอย่างยั่งยืน
ล่าสุด AstraZeneca ยังมีแคมเปญชื่อว่า ‘Making Health Happen’ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น
โดยองค์ประกอบของแคมเปญ ‘Making Health Happen’ จะประกอบไปด้วยการดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ได้แก่
- ประชาชน (People) – ค้นคว้าและคิดค้นนวัตกรรมยาและโซลูชันต่างๆ ที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- ชุมชน (Society) – ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับระบบสาธารณสุขให้มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงได้มากขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น และการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น เพื่อพัฒนาและขยายโซลูชันด้านสุขภาพในวงกว้าง จนก่อให้เกิดสังคมที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน
- โลก (Planet) – Ambition Zero Carbon โครงการด้านความยั่งยืนหลักของบริษัท ในการผลักดันบริษัทสาขาต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2025
วิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำคุณค่านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
- สำหรับในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นช่วงเวลาที่แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมยาและนวัตกรรมด้านสุขภาพ
- โดย เจมส์ ทีก (James Teague) ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าแห่งการค้นพบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
“AstraZeneca มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความก้าวหน้าด้านวัคซีนของโลก ขณะเดียวกันก็พบว่าความท้าทายด้านสุขภาพอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความสำคัญลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เคยหยุดขยายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนายาและโซลูชันต่างๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย ยกระดับระบบการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคมทั่วโลก”
- ขณะที่เทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19
- ปัจจุบัน AstraZeneca มีโครงการมากกว่า 700 โครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างเครือข่ายทั่วโลก เพื่อยกระดับนวัตกรรมการดูแลและรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
- โดยในประเทศไทย AstraZeneca ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทย
- และด้วยเครือข่าย ‘Health Innovation Hubs’ ของ AstraZeneca ทั่วโลก จึงทำให้มีการเชื่อมประสานและต่อยอดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ยา เทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
อ้างอิง:
- https://www.astrazeneca.com/country-sites/thailand/press-releases/astrazeneca-a-leading-science-led-biopharmaceutical-company-thai.html
- https://www.astrazeneca.com/content/dam/az/Country-Sites/thailand/TH-AztraZeneca-Thailand-Factsheet-Bhead-07-11.pdf
- https://www.who.int/thailand/activities/NCDs_Investment_Case_Report
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases