×

Knives Out นอกจาก ‘ใครฆ่าคุณปู่’ ความสนุกอยู่ที่การพาคนดูไปสำรวจสังคมและความสัมพันธ์ในครอบครัว

03.12.2019
  • LOADING...
Knives Out

คะแนน 97% ที่นักวิจารณ์รุมปา ‘มะเขือสด’ (และป๊อบคอร์นอีก 93% จากผู้ชมทั่วไป) ให้กับหนังสักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และเป็นเครื่องชี้วัดเบื้องต้นได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่จะได้ชมใน Knives Out ‘ฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าคุณปู่’ นั้นไม่ธรรมดา 

 

Knives Out คือผลงานกำกับของ ไรอัน จอห์นสัน ที่เพิ่งได้รับคำชมจากสาวก Star Wars ด้วยการปัดฝุ่น เพิ่มสไตล์การเล่าเรื่อง และเปิดจักรวาลให้กับ ‘นับรบแห่งดวงดาว’ ยุคใหม่ใน Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi (2017)

 

โดยหยิบยืมแรงบันดาลใจจากตัวละคร แอร์กูล ปัวโรต์ นักสืบชาวเบลเยียม ที่ปรากฏตัวใน The Murder on Orient Express และนิยายแนวสืบสวนสอบสวนหลายๆ เรื่องของ อกาธา คริสตี้ กลายเป็น เบอร์นัวต์ บลองก์ (แดเนียล เคร็ก) ที่ต้องมาพัวพันกับคดีฆาตกรรมปริศนาของ ฮาร์ลาน ธรอมบีย์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนที่มียอดขายมากกว่า 80 ล้านเล่ม

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากงานฉลองวันเกิดครบรอบ 85 ปีของ ฮาร์ลาน ที่ก่อนหน้านั้นเขามีภารกิจหลักคือ การสะสางปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา ลูกๆ และสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด ซึ่งความขัดแย้งที่ค่อยๆ เปิดเผยออกมาทีละน้อย ทำให้ทุกคนที่อยู่ในงานวันนั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งหมดอย่างไม่มีข้อแม้ 

 

เนื่องจากยืนอยู่บนพื้นฐานของหนังแนวสืบสวนสอบสวน ทำให้ Knives Out ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะชูจุดขาย โฟกัสไปที่การตามหาว่า ใครคือฆาตกรตัวจริง แบบที่หนัง ซีรีส์ หนังสือ การ์ตูน ฯลฯ แนวนี้จำนวนมากเอาทำได้ แล้ววัดกันที่เทคนิค ความซับซ้อนในการวางเบาะแส และลูกเล่นแพรวพราวในการหักมุมให้คนดูไม่สามารถคาดเดาตอนจบได้ 

 

ซึ่ง Knives Out ก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการขมวดปมช่วงสุดท้าย ที่แนบเนียน เหนือชั้น ผสมผสานจินตนาการ และหยิบเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ได้อย่างน่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยการหักมุมไปมา จนเดาไม่ถูก แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ ช่วงหนึ่งที่สับขาหลอกจนเราเลิกเดาไปแล้วว่าใครเป็นคนฆ่าคุณปู่ และหันไปโฟกัสที่ประเด็นความสัมพันธ์และความฟอนเฟะภายในจิตใจ ที่พร้อมจะกลายร่างเป็นปีศาจน่ารังเกียจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองได้ทุกเมื่อ  

 

ทำให้ เบอร์นัวต์ บลองก์ ไม่ได้เป็นแค่นักสืบที่พาเราไปตามหาคนร้าย แต่ยังพาเราค้นลึกไปถึงความขัดแย้งในจิตใจของตัวละคร ทั้ง ลินดา ดรายส์เดล (เจมี ลี เคอร์ติส) ลูกสาวคนโตที่เก่ง มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ, วอลต์ ธรอมบีย์ (ไมเคิล แชนนอน) ลูกชายที่ดูแลลิขสิทธิ์การตีพิมพ์หนังสืออยู่ภายใต้ร่มเงาของพ่อมาตลอด, โจนี ธรอมบีย์ (โทนี คอลเล็ตต์) ลูกสาวที่อยู่ได้เพราะเงินอุปถัมภ์จากพ่อ และ แรนซัม ดรายส์เดล (คริส อีแวนส์) หลานชายจอมเสเพลที่ขัดแย้งกับคุณปู่มาตลอด ซึ่งทุกปมปัญหาล้วนเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ใครสักคนกลายเป็นฆาตกรได้ทั้งนั้น 

 

และนักแสดงทุกคนเล่นได้สมชื่อชั้นตามมาตรฐาน ช่วยขับอารมณ์ทั้งช่วงเข้มข้น กดดัน ผ่อนคลาย และขำขันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ คริส อีแวนส์ ที่ถอดโล่สลัดคราบกัปตันอเมริกาผู้เคร่งคัด มาเป็นหนุ่มปากร้ายที่สบถคำหยาบตลอดเวลาได้แบบถึงลูกถึงคน

 

อีกประเด็นที่ Knives Out สอดแทรกให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่องคือ การวางตัวละคร มาร์ธา คาเบรรา (อนา เดอ อาร์มัส) ‘คนนอก’ ที่ทำหน้าที่เป็นพยาบาลคนสนิทคอยดูแลคุณปู่ ให้มีอีกหนึ่งสถานะคือ การเป็น ‘ผู้อพยพ’ ที่ถึงแม้สมาชิกคนอื่นๆ จะแสดงท่าทีว่ารักและเอ็นดูมากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีใครจำประเทศที่เธอจากมาได้แม้แต่คนเดียว เป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ ไรอัน จอห์นสัน เพิ่มเข้ามา เพื่อยั่วล้อและตั้งคำถามถึงความเป็น ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ ได้อย่างเจ็บแสบและน่าสนใจ

 

นอกจากนี้ Knives Out ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะคงความคลาสสิกยุคเก่าที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของนิยายสืบสวนสอบสวนของ อกาธา คริสตี้ เอาไว้ ด้วยงานคอสตูมและโปรดักชันดีไซน์เนี้ยบมากๆ และนำมาเล่าผ่านบริบทสมัยใหม่ เพิ่มเติมประเด็นความเชื่อ เทคโนโลยี และปัญหาที่วัยรุ่นยุคใหม่ต้องเจอ เข้ามามีส่วนในการคลี่คลายคดีอยู่เป็นระยะ 

 

ตรงนี้ต้องยกเครดิตให้กับ ไรอัน จอห์นสัน ในฐานะผู้กำกับที่มีลายเซ็นชัดเจนในการผสมผสานกลิ่นอายผลงานเก่าๆ ที่มีความคลาสสิก รวมกับตีความเพื่อเปิดโลก และขยายจักรวาลที่เป็นพื้นฐานให้เข้ากับคนดูยุคใหม่ เหมือนที่ทำเอาไว้ใน Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi ที่ถึงแม้จะมีแฟนคลับเดนตายรู้สึกแอนตี้อยู่บ้าง แต่ก็ช่วยดึงคนดูรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแฟนคลับ Star Wars ได้เป็นอย่างดี 

 

ทำให้เราคิดไปถึงการที่เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้กำกับเปิด ‘ไตรภาค’ ชุดที่ 4 ของมหาสงครามดวงดาว (ตอนนี้ใช้ชื่อ Untitled Star Wars Trilogy: Episode I) ว่า ไรอัน จอห์นสัน คือหนึ่งในชื่อที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising